
คุณคิดว่าเกมมิ่งเกียร์แบรนด์ไทยที่อยู่ในวงการนี้ประเทศนี้มาได้ตั้ง 23 ปี เนี่ย คุณว่าเขาต้องแน่เบอร์ไหนอะ? อย่าง Signo NUZZON KB-751 เกมมิ่งคีย์บอร์ดตัวนี้ที่แอดได้มาเล่นประมาณสัปดาห์เศษๆ ใช้แบบไม่ถนอมหวดแป้นกันปังๆๆๆ ถอดสวิตช์เปลี่ยนเล่นไปมาแล้วค่อยไปนั่งอ่านคู่มือว่ามันทำอะไรได้บ้างก็ต้องซูฮกมันจริงๆ ว่าเออ ไอ้หนูนี่มันก็เอาเรื่อง ถึกพอตัวแถมยังลูกเล่นเยอะ RGB ที่ตัวก็สว่างแสบตาด้วย Pudding Keycaps อีก เดี๋ยวดูในภาพที่แอดถ่ายมาจะรู้ว่าคีย์บอร์ดนี้มันเซเลอร์มูนเบอร์ไหน 555555 ไม่พอนะ เห็นแบบนี้มันเป็นมือปืนมีนาย เป็นคีย์บอร์ดมีซอฟท์แวร์ให้เซฟมาโครเอาไว้กดเล่นได้ด้วย! เดี๋ยวมีหน้าตาซอฟท์แวร์ให้ดูตอนท้ายรีวิวฮะ ตอนนี้ขอส่งวาร์ปก่อน เอาไปครับเอาไป!
- McWinner มีสวิตช์ Blue / Red เลือกได้ขาวดำ สเปคไหนก็ 1,719 บาท กดวาร์ปทางนี้เลย
- Signo Shopee Mall สีดำ สวิตช์ Red @ 1,850 บาท กดวาร์ปนี้ไปฮะ
- Signo Shopee Mall สีขาว สวิตช์ Red @ 1,850 บาทเท่ากันฮะ กดวาร์ปนี้ไปสอยได้เลย
- Signo Shopee Mall สีขาว สวิตช์ Blue @ 1,850 บาท จัดไปวาร์ปนี้เลยวัยรุ่น
- Signo LazMall สีดำสวิตช์ Red @ 1,786 บาท กดทางนี้
- Signo LazMall สีดำสวิตช์ Blue @ 1,790 บาท วาร์ปทางนี้พี่น้อง
ในราคาเรทไม่เกิน 2,000 บาท แต่ได้เกมมิ่งคีย์บอร์ดที่ลูกเล่นเยอะแบบนี้ แอดกาวว่าน่าสนใจ ยิ่งใครเป็นสายจัดโต๊ะคอมหาพวกคีย์บอร์ดไม่มีสายมาใช้น่าจะชอบ เพราะตัวมันต่อได้ 3 โหมด ทั้ง USB-C มีสายตามปกติ, USB 2.4GHz เป็น Dongle ก็ได้หรือ Bluetooth ก้เข้าได้ 3 เครื่อง กด Fn + W / E / R เลือกเอาเลยจะต่อกับอุปกรณ์ตัวไหนที่ Pairing เอาไว้ได้เลย
จุดที่ชอบ
- ราคาไม่แพงแต่ลูกเล่นเยอะ มีโปรแกรมตั้งมาโครได้ด้วย
- เชื่อมต่อได้ 3 โหมด ทั้ง USB-C, USB 2.4GHz, Bluetooth อีก 3 เครื่อง
- ถอดเปลี่ยนสวิตช์ได้ อยากได้สวิตช์ไว้เปลี่ยนไปสั่งกับ Signo ได้
- สวิตช์เป็น Hot Swap อยากเปลี่ยนก็ถอดได้เลย มีอุปกรณ์แกะแถมมาให้
- มี Cable route ต่อสาย USB-C เสร็จจัดทิศทางสายออกใต้คีย์บอร์ดได้ 3 ทาง
จุดที่ไม่ชอบและแนะนำให้ทำเพิ่ม
- แกะคีย์บอร์ดมาใส่โฟมซับเสียงเพิ่มจะดีกว่า เสียงค่อนข้างกลวง (Hollow)
- Stablilizer ควร Balance มันใหม่ แต่แกะเองได้ไม่ยาก เป็น Plate mount
สเปคและสวิตช์ของ Signo NUZZON KB-751



มาดูหน้ากล่องนอกจากภาพตัวคีย์บอร์ดก็จะเห็นว่าเขารับประกัน 2 ปีเต็มๆ พร้อมคุณสมบัติว่าเจ้า Signo NUZZON ตัวนี้ มันใช้งานแบบไร้สายได้ระยะ 10 เมตร หวดปุ่ม Optical Mechanical Switch ของเขาได้ 100 ล้านครั้งเต็มๆ ไม่ต้องกลัวว่าปุ่มจะเบิ้ลและที่มันแซ่บเลย คือถอดเปลี่ยนสวิตช์แบบ Hot Swappable ได้ด้วย!! อันนี้ว้าวอยู่เพราะปกติไม่ค่อยเจอแบบถอดสวิตช์ได้ แต่ต้องบอกกันก่อนว่าตัวมันจะใส่สวิตช์ทั่วๆ ไปที่ชาว Custom Keyboard ซื้อมาใส่ไม่ได้ ถ้าใครอยากเปลี่ยนสวิตช์หรือซื้อเซ็ตสำรองเอาไว้เปลี่ยน เห็นทาง Signo Thailand หลังไมค์มาหาแอดว่าถ้าจะซื้อไปติดต่อแอดมินที่เพจ Facebook ของเขาได้เลยนะ ส่วนด้านหลังกล่องเขียนบรรยายสเปคและสรรพคุณเอาไว้ครบเครื่องเลย ที่สำคัญแล้วคุณๆ ควรรู้ก็มีประมาณนี้
- ดีไซน์ : TKL 87 ปุ่ม มี Anti-Ghosting
- สวิตช์ : Optical Mechanical Switch กดได้ 100 ล้านครั้ง (มีปุ่มสำรอง x 4 ปุ่ม และอุปกรณ์เปลี่ยนปุ่มแถมมาในกล่อง)
- การเชื่อมต่อ : USB-C, USB 2.4GHz, Bluetooth เชื่อมได้ 3 อุปกรณ์
- ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานด้วยได้ : Windows, macOS, iPadOS (อันนี้ลองเอง เล่นได้), Android
- ซอฟท์แวร์ : ซอฟท์แวร์ของ Signo โหลดทางนี้ ตั้งมาโครและเซ็ตไฟ RGB ได้
- แบตเตอรี่และระยะเวลาใช้งาน : 1,850mAh ใช้ได้ 20 ชม. (ปิดไฟ RGB) / 10 ชม. (เปิดไฟ RGB) ชาร์จ 4 ชม. เต็ม




ก่อนอื่นแอดกาวขอเคลียร์ก่อน บางคนจะแบบอยากได้ Mechanical Switch แท้ๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่แอดว่าเจ้า Optical Switch เนี่ย จากที่ตอนแรกแอดก็ยืนอยู่ฝั่ง Mechanical Switch แท้ๆ ก็ต้องยอมรับเพราะมันตอบสนองได้เร็วเอาเรื่อง เพราะมันใช้วิธีทริกเกอร์โดยเอาก้าน Stem ของสวิตช์ไปบังแสงเลเซอร์เป็นการทริกเกอร์กดปุ่ม แบบว่าถ้าเลเซอร์ยังยิงแสงจาก A > B ได้ตามปกติมันจะถือว่าปุ่มนั้นไม่ได้กด แต่ถ้าเรากดปุ่มเมื่อไหร่แล้วก้าน Stem ขวางเลเซอร์ปุ๊บ มันจะทำงานทันที ซึ่งต่างจากสวิตช์ธรรมดาที่มันมี Leaf Spring ตอนแตะแล้วทำงานแล้วสวิตช์กับสลักเลื่อนขึ้นมาบังตัวก้านเหล็กเมื่อไหร่มันก็หยุดการทำงานไรงี้
พอแงะดู จะเห็นแผ่นปริ้นท์ของ Signo NUZZON KB-751 เป็นปริ้นท์เขียวมาเลย ดีไซน์ง่ายๆ ใส่สวิตช์สะดวกแค่เอารูตรงกลางให้ตรงกับแผ่นปริ้นท์ หันหน้าเอาโลโก้ Signo ตรง Top housing อยู่ด้านล่างแล้วกดสวิตช์เข้าตัวคีย์บอร์ดได้ทันทีเพราะมันใช้เพลตด้านบนของคีย์บอร์ดเป็นตัวรับสวิตช์อยู่
ระหว่างหลุมมีตัวหัวเลเซอร์ IR ยิงไป PT ที่เป็นตัวรับเลเซอร์อีกฝั่ง (มนุษย์อีเล็กทรอนิกส์น่าจะคุ้นหน้าวงจรเลเซอร์ IR กันบ้างแหละ) แล้วพอดูตัวสวิตช์ประกอบจะเห็นว่ารางตรงกลางก้านสวิตช์อ่ะ มันจะเว้นช่องเอาไว้ให้เลเซอร์ยิงหากันได้แล้วดีไซน์โครงข้างสวิตช์มาครอบหัวเลเซอร์สองฝั่งเอาไว้พอดี คิดภาพตามจะเห็นว่าตอนนี้รางกลางสวิตช์มันครอบช่องวงจรนั้นเอาไว้แล้วแต่เลเซอร์ยังไม่โดนบัง พอกดปุ่มนั้นๆ เมื่อไหร่ ก้าน Stem เลื่อนมาขวางเลเซอร์ปุ๊บ มันทำงานปั๊บ! เรียกว่าใช้ความเร็วแสงเลเซอร์ทริกเกอร์นั่นเอง ถถถถ

สัมผัสและความเร็วตอนพิมพ์ด้วย Signo NUZZON KB-751
ถ้าอิงจากคีย์บอร์ดทั้งหมดที่แอดกาวใช้มา เทียบกับ Signo NUZZON KB-751 ตัวนี้ที่เดิมๆ เป็น Optical Blue Switch ดูแล้วเทียบกับสวิตช์แบบคลาสสิคที่เราๆ เคยใช้งานกันมา แอดว่าสวิตช์แบบ Optical Mechanical Switch เนี่ยมันเป็นสวิตช์ทริกเกอร์เร็ว เพียง 0.2 มิลลิวินาที (ms) ด้วยแสงเลเซอร์เป็นตัวทริกเกอร์ ถ้าเทียบกับแบบคลาสสิคที่เคยใช้มาฟีลมันก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมากถ้าคุณไม่จ้องจะจับผิดมันขนาดนั้นอ่ะ ถ้าเอาคนที่ไม่ได้เล่นคีย์บอร์ดลึกๆ แบบแอดกาวมาจับฟีลจับผิดแบบเนี้ย แอดบอกเลยว่าแยกออกยากว่าอีนี่มัน Optical หรือเป็น Traditional Mechanical Switch อ่ะ เรียกว่าโดนหลอกได้ง่ายพอตัวเลยแหละ!
สัมผัสการตอบสนองเอาว่าถ้าเทียบกับสวิตช์ทั้งหมดที่แอดเคยใช้งานมาในชีวิตเลยก็แล้วกันเนอะ เดี๋ยวเทียบเป็นตารางให้ดูละกัน
รุ่น / สเปค เมื่อเทียบ Optical Switch | ประเภทสวิตช์ | ทริกเกอร์ | ความเร็วเมื่อเทียบ Optical (ใช้สัมผัส) |
Akko CS Jelly Blue Starfish Pink (Lubed) | Linear / Box Switch | 1 จังหวะ | ลื่นน้อยกว่า ความเร็วทริกเกอร์น้อยกว่าเล็กน้อย เสียงทึบและใช้แรงกดมากกว่า |
Akko Ocean Blue (Lubed) | Tactile / Traditional | 2 จังหวะ | ลื่น แข็งและใช้แรงกดเยอะ เสียงทึบมากและก้อง ความเร็วทริกเกอร์น้อยกว่า เหมาะกับเกมเมอร์สายหวดปุ่ม |
Alpaca Switch (Lubed+Flim) | Linear / Traditional | 1 จังหวะ | ลื่น ตอบสนองเร็วพอควร โดน Optical เฉือนความเร็วเล็กน้อย เสียงก้องแต่น้อยกว่า Optical ความเร็วทริกเกอร์น้อยกว่าเล็กน้อย |
CHERRY MX Speed Silver (Standard) | Linear / Traditional | 1 จังหวะ | ลื่น ตอบสนองเร็วมากเสมอกับ Optical เสียงก้องน้อยกว่า Optical ปุ่มตอนกดสากเอาเรื่อง ไม่ Lube น่าจะหงุดหงิดพอสมควร |
Signo Blue Switch (Optical Switch) | Clicky / Box Switch | 2 จังหวะ | ลื่นตอบสนองเร็วผิดวิสัย Blue Clicky อานิสงค์มาจากแสงเลเซอร์ 0.2ms เสียงก้องสะท้านหู ใช้ในบ้านไม่เป็น ใช้ในออฟฟิศหรือร้านกาแฟน่าจะหมี่เหลือง ความเร็วทริกเกอร์เร็วมาก เทียบพวก Linear สปริงอ่อนได้ |
ถ้าเทียบกันแล้วต้องถือว่าตัว Optical Switch มันทำงานเร็วเอาเรื่องและความสากน้อยมากตอนเอามาใส่คีย์บอร์ดแล้วกดใช้งาน และพอแอดลองเอาสวิตช์ตัวแถมในถุงมาลองจิ้มเปลี่ยนเล่นดู แอดสรุปให้คุณๆ ได้ดังนี้เลยว่าจะเลือกตัวไหนเล่นตัวไหนดี?
- Blue – ใช้ในบ้าน เพราะ Clicky มันเสียงดังดุดันไม่เกรงใจใคร ทำงานและเล่นเกมให้มีเสียงแก๊งๆ สะเทือนหูก็มาทางนี้
- Red – จะใช้ในบ้านก็สบายหูเอาไปใช้ที่ออฟฟิศเพื่อนก็ไม่ด่า มันลื่นไปจังหวะเดียวเลย เล่นเกมได้ทำงานก็โอเคไม่แพ้กัน
เอาเป็นประมาณนี้แหละ แอดให้คุณไปเลือกเอง แต่ถ้าเป็นแอดที่เริ่มเป็นพวกขี้รำคาญขอ Red ก็แล้วกัน เจอ Blue ตัวนี้ที่เขาส่งมาให้รีวิวปุ๊บ ใช้งานไป 1-2 ชั่วโมง คือไม่ไหว หูแอดที่เป็นมนุษย์ทำงานแล้วเริ่มขี้รำคาญ อยากฟังเพลง Lo-Fi ไปเรื่อยๆ เนี่ย มันทนไม่ไหวจริง 5555+ ไม่ได้เป็นเด็กเกรียนเกาะเบาะเหมือนสมัยก่อนแล้วด้วย
แต่จุดไม่ชอบแบบจริงจังเลย อันนี้ถือว่าอยู่ในจุดเข้าใจได้และทำต่อได้อันนี้แอดขอแนะนำในฐานะที่เล่น Custom Keyboard มาก่อนแล้วแกะดูนิดหน่อย ลิสท์ให้ตามนี้สำหรับคนอยากซื้อมาทำนะ
- เสริมโฟมรองใต้และคั่นตรง PCB กับเพลตของคีย์บอร์ด ลดเสียงกลวง (Hollow) ก่อนเลย
- ทำบาลานซ์ของ Stablilizer ไปจูนบาลานซ์เสริมสักหน่อย มันเป็น Plate mount แกะง่ายมากๆ
- (Optional) ถ้าชอบคีย์แคปเสียงแน่นๆ แนะนำให้หามาเปลี่ยน ส่วนตัวถ้าเป็นแอดเปลี่ยนเพราะไม่ชอบ RGB แล้ว ถถถถ
ผ่าสวิตช์ดูเลยดีกว่า ใน Optical Mechanical Switch มีอะไรอยู่!!

ผ่าออกมา พ้าม! จะเห็นเลยว่าตัวสวิตช์เนี่ย โครงสร้างมันแทบไม่มีอะไรเลย ถ้าเป็น Linear จะมีฐานพลาสติกเจาะรูตรงกลางเอาไว้เป็นรู Stem ของสวิตช์เลื่อนลงไปบังแสงเลเซอร์ IR อย่างเดียว ดังนั้นในฐานะผู้ที่ชอบ Custom Keyboard มันโมดิฟายได้อย่างเดียวคือซื้อสปริงมาเปลี่ยน เลือกค่าความแข็งสปริงเอาเท่าที่ใจจะไขว่คว้ามาใส่เอาเลยละกัน อยากแข็งโป๊กก็หาค่า G สปริงหนักๆ สัก 60 cN ก็เท่ากับพวก Linear น้ำหนักเยอะแล้ว ถ้า 45 cN ก็เป็นสายสวิตช์เบาครับผม




แต่แอดเชื่อว่าแล้วเจ้าสวิตช์ Blue Clicky เนี่ย มันเป็นโครงแบบนี้เหมือนกัน แล้วเสียงกริ๊งๆ มันทำงานกันยังไง (วะ) เมื่อแกะเราก็ถึงบางอ้อทันที มันง่ายกว่าที่คิดตรงที่เขาติดตัวกระเดื่องแขนเข้ามาตัวนึง ดูภาพด้านบนตามจะเห็นว่าพอก้านเท้าสามเหลี่ยมของ Stem มันกดลงไปถึงจุดนึงมันจะเด้งกลับมาตีพลาสติกที่เป็นก้านเบรกด้านบน ปล่อยปุ่มแล้วตัวสามเหลี่ยมก็จะยกขึ้นมาเหนือก้านนี่ให้กดได้อีกรอบ เท่านี้มันก็ทำเสียงแกร๊งๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Blue Switch ได้ตามปกติแล้ว แม้จะไม่มีชุด Leaf Spring หรือกระเดื่องอะไรมาใส่ก็ตาม กลายเป็นว่าวิธีบ้านๆ แบบนี้ก็ใช้ได้เหมือนกันวุ้ย ถถถถถถถ
การตอบสนองของสวิตช์ ส่วนตัวแอดว่าโครงสร้างของมันเรียบง่ายมาก ไม่มีอะไรที่มีโอกาสเสียหรือพังได้เลย อย่างมากก็สปริงล้าซึ่งป่านนั้นแอดว่ามันต้องใช้งานไป 2-3 ปีเป็นอย่างน้อยๆ แล้ว และใช้แทบทุกวันต่อกันหลายๆ ชั่วโมงด้วย แต่โครงสร้างสวิตช์ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ดังนั้นแอดว่าที่เขาเคลมไว้ว่ากดมันรัวๆ 100 ล้านครั้งหนูก็สู้ค่ะ อันนี้น่าจะไปถึงได้สบายๆ แน่นอน ถ้าสปริงไปก่อน เดี๋ยวแอดหาวาร์ปสปริงคีย์บอร์ดมาให้เปลี่ยนละกัน 😛
แกะกล่องแล้วเขาใส่อะไรมาให้บ้างหว่า?




หลายคนน่าจะนิ่วหน้าใส่แอดกาวแล้วแหละ ว่าทำไมทำตัวกลับหัวกลับหางชาวบ้าน เอาหัวข้อ Unbox มาแปะเอาไว้เกือบท้ายๆ แต่ใส่เดี่ยวกับสวิตช์เต็มคาราเบลขนาดนั้นอ่ะ? ตอบได้เลยเพราะแอดสนใจ Optical Switch มากกว่าของในกล่องยังไงล่ะ ฮะฮ่า! เราเลยใส่เดี่ยวเน้นๆ ให้คุณเห็น ผ่ากันสดๆ ให้รู้ไปข้างนึงเลยดีกว่าแล้วค่อยมาส่องๆ ของในกล่องกันต่อ
เปิดมาปุ๊บรู้กัน ในกล่องนอกจากคีย์บอร์ดสีที่เลือกแล้วจะมีสวิตช์ 4 สีแถมมาให้ในถุงเอาไว้ลองเลือกได้ เผื่ออยากได้สวิตช์สำรองไว้เปลี่ยนจากตัวเดิมอะไรงี้ก็ Inbox ไปหา Signo Thailand Facebook เอานะครับ ถถถถถ ส่วนตัวแอดชอบสวิตช์เหลืองที่มันเป็น Linear เพราะว่ามันสปริงอ่อนกดเร็วทันใจดี ส่วนน้ำตาลจะแข็งขึ้นเล็กน้อยประมาณ Tactile ที่ไม่มีขยักกลาง ส่วนดำเป็นสวิตช์ Linear แบบสปริงแข็ง ถ้าชอบลงน้ำหนักหวดนิ้วหนักๆ หน่อย แนะนำเลย
นอกจากสวิตช์ มีตัวถอดคีย์แคปและสวิตช์มาครบ ตัวก้านพลาสติกสีดำเป็น Keycaps Puller และก้านเหล็กเป็น Switch Puller ดึงสวิตช์ออกเปลี่ยนได้ตามชอบ นอกจากนี้จะมีสาย USB-C to A อีกเส้นกับหัวแปลงสำหรับต่อ USB 2.4GHz Dongle ได้ด้วย ถ้าอยากเล่นแบบไร้สายแล้วเอาดีเลย์น้อยๆ ด้วยก็ต่อสายเสียบหัวแปลงลากมาวางเอาไว้หน้าคีย์บอร์ดเท่านี้ก็ใช้ได้เหมือนต่อสายเป๊ะ


แต่ถ้าเอาไปต่อมือถือหรือแท็บเล็ต (หรือไปต่อโน้ตบุ๊คแต่พอดีพอร์ตเต็มแล้ว) ก็ต่อ Bluetooth ได้ 3 ตัวเต็มๆ สำหรับ PC แอดแนะนำว่าให้กด Fn+P ค้าง 3 วินาทีจนปุ่มมันกระพริบเพื่อบังคับเข้า Pairing Mode ไปเลยง่ายสุด ส่วน Bluetooth 1~3 เอาไปต่อกับพวกแท็บเล็ตหรือมือถืออะไรพวกนี้ได้ ส่วนวิชามารที่แอดกาวใช้แบบง่ายๆ กับ iPad Air Gen 4 ส่วนตัว คือ ต่อ USB-C Multiport Adapter แล้วเอา USB 2.4GHz Dongle จิ้มมันซะ! เท่านี้ก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวาย ใช้คีย์บอร์ดได้ชิลๆ แอดเลยบอกว่ามันใช้กับ iPadOS ได้ยังไงล่ะ ฮะฮ่า!
นอกจากนี้ตรง F1~F12 จะมี Function Hotkey ติดมาให้แล้วไปเซ็ตเอาไว้กับปุ่ม Function Key อย่างพวก Home/End/Insert/Delete กับปุ่มลูกศรด้วย แต่จุดที่แอดกาวประทับใจสุด ยกให้ปุ่ม Windows ที่มันมี Windows Lock ติดมาด้วย เวลาเล่นเกมก็ Fn+Windows หนึ่งครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล Start menu ไม่ลั่นใส่หน้าเวลากำลังจะเก็บ Kill ได้นะ ตรงนี้บอกเลยว่าถ้าจะเอาไว้เล่นเกมถือว่าโดนเลย




ด้านหลังค่อนข้างเรียบง่าย มีแค่ขาตั้งปรับความสูง 2 ระดับ เป็น 6 หรือ 9 องศา สวิตช์สำหรับเปิดปิดคีย์บอร์ด ถ้าปกติต่อสาย USB-C เข้าตรงช่องเหนือสติ๊กเกอร์แล้ว Route สายออกรูข้างคีย์บอร์ดทั้งสองด้านหรือยิงตรงออกด้านหลังเลยก็ไม่ต้องเปิดสวิตช์ แต่ถ้าใช้ Bluetooth หรือ USB 2.4GHz ถึงสับสวิตช์เป็น On ก่อนถึงจะใช้งานได้

ส่วนของ Pudding Keycaps มองด้านข้างจะเห็นว่าตัวครอบฝาด้านบนเพียงส่วนเดียวจะเป็นพลาสติกทึบตามปกติ ด้านข้างเป็นโครงเนื้อใสให้แสงไฟลอดได้เต็มที่ ดังนั้นไฟ LED จะเป็น North หรือ South Facing ก็ไม่มีปัญหาเพราะทรงคีย์แคปมันเป็นโคมไฟอยู่แล้ว ถ้าต้องการปรับเอฟเฟค นอกจากในซอฟท์แวร์ของมันก็กด Fn+Hotkey ได้โดยคำสั่งแต่ละปุ่มมี
- Fn+ลูกศรขึ้นลง – ปรับความสว่างไฟ
- Fn+ลูกศรซ้ายขวา – ปรับความเร็วเอฟเฟคไฟ
- Fn+Insert – เปลี่ยนเอฟเฟคไฟ
- Fn+Delete – เปลี่ยนสีไฟ
- Fn+End – ปิด/เปิดไฟ RGB
ตรงนี้ใครซื้อ Signo NUZZON ไปเล่นก็ลองปรับเอฟเฟคเล่นเอาได้ตามชอบเลย จะเล่นไฟให้สว่างสะใจหรือกดเป็น Reactive แบบแอดก็ได้นะ ไฟมาแค่ปุ่มที่ใช้งานอย่างเดียวก็พอแล้ว ถถถถ
Signo Driver Management Software







เปิดดูหน้าค่าตาโปรแกรมของ Signo NUZZON KB-751 ตัวนี้แล้วเรียกว่าเป็นตามแบบฉบับคีย์บอร์ดราคาช่วงไม่เกิน 2,000 บาทหลายๆ รุ่นเลย (ซึ่งแอดหมายถึงนัง ADATA XPG Summoner ด้วยนะ) แต่ตอนใช้งานต้องต่อสาย USB เท่านั้นถึงใช้ได้ น่าจะเพราะเอาไว้เขียนข้อมูลเข้าบอร์ดภายในนั่นแหละ เข้ามาหน้าแรกเลือกคีย์บอร์ดก่อน จากนั้นเข้าไปข้างในจะมีคำสั่งให้เลือกใช้งานแยกเป็นหมวดๆ ได้แก่
- ตั้งค่าปุ่มต่างๆ บนคีย์บอร์ด กดเลือกปุ่มที่ต้องการแล้วเลือกตัวอักษรหรือคีย์แพดที่ต้องการเติมเข้าไปได้เลย ตรงนี้คล้ายกับพวกโปรแกรมแต่งคีย์บอร์ด QMK/VIA ไรงี้
- ตรงหน้าเหมือน Command Prompt เป็นหน้าเซฟมาโคร กด New แล้วเริ่มเซฟมาโครได้เลย
- คำสั่งไฟ RGB ตั้งค่าได้จากหน้าโปรแกรมเลย วส่าจะเอาไฟแบบไหน เอฟเฟคอะไร สีอะไร ปรับความสว่างแค่ไหน เขียนไปมาทำไมคิดถึงหน้าอาไท (วะครับ)
- วงกลมรูปดาวเป็น Per-Key RGB เซ็ตสีไฟคีย์บอร์ดตามสีที่ชอบแล้วเซฟแยก Config ได้ตามใจ
- รูปตัวโน้ตเป็นการตั้งค่าไฟคีย์บอร์ดให้เข้ากับเพลงที่เปิดฟังอยู่ โทนเพลงทำนองเป็นยังไงเดี๋ยวไฟมันเล่นตามเราไปเอง
- Settings รูปเฟืองไม่ต้องยุ่งหรอกนะ ถ้าไม่อยากฝึกภาษาจีน ถถถถถถ

สรุปแล้วถ้าใครหาเกมมิ่งคีย์บอร์ดเอาไว้เล่นเกมหรือทำงานสักตัวในงบ 2,000 บาท แล้วลูกเล่นไม่แพ้พวกเกมมิ่งคีย์บอร์ดตัวแพงๆ ล่ะก็ Signo NUZZON KB-751 ตัวนี้แอดกาวว่ากดได้เลย เพราะจริงๆ คีย์บอร์ดเหล่านี้แอดว่าถ้ามันใช้งานได้ไม่มีปัญหาถือว่าผ่านละ แต่พอถอดเปลี่ยน Optical Mechanical Switch ได้, สลับโหมดเชื่อมต่อไปมาได้ จนเอาไปต่อ iPad ไรงี้ได้อีก อันนี้แอดกาวถือว่าแจ่มเลย
ส่วนตัวแอดว่าเหมาะกับเกมเมอร์ที่เพิ่งประกอบเกมมิ่งพีซีมาใหม่แล้วงบเหลือน้อยหาเกมมิ่งเกียร์มาใช้ไปก่อนก็สอยมันไปได้ (แต่น่าจะได้ใช้ยาวๆ ยกเว้นหาเรื่องเปลี่ยน) แต่ส่วนตัวฟังก์ชั่นของมันถือว่ามีระดับนึงแต่ลูกเล่นไม่ได้เยอะเท่ากับพวกตัวท็อปราคาแรงๆ ไรขนาดนั้น แต่แทนที่จะไปซื้อจากแบรนด์อะไรไม่รู้จากจีน สู้ซื้อแบรนด์ไทยตัวนี้ไปเล่นเลยดีกว่า ไหนจะประกันโอเค ของดีคุ้มค่าตัวแถมยังซื้อของเล่นมาเติมได้ด้วย