“น้ำมันแพงสวนทางค่าแรงขั้นต่ำ”
“ลด 40 หนึ่งครั้ง ขึ้น 60 สองที”
“ลดดีเซลเพื่อขึ้นเบนซิน”
น้ำมันแพงสวนทางค่าแรงขั้นต่ำเป็นวลียอดฮิตที่เราจะเห็นกันแทบทุกวันช่วงนี้ครับ แอดแมวเองตอนเอาเจ้าอุ๋งๆ มาขับ วันนั้นยังขิงกะเพื่อนอยู่เลยว่า สบาย โซฮอล์ 95 ลิตร 19-20 สบ๊ายย ที่ไหนได้พี่ขึ้นเอาๆ ตอนนี้ปาเข้าไปจะ 40 อยู่รอมร่อ… นี่ขนาดไม่ได้มีกะจิตกะใจคิดจะเติมพวกโซฮอล์พรีเมียม
แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะลุงตู่ แต่ตอนนี้วิกฤติลุงปู(ติน) vs ยูเครน ก็อาจจะส่งผลกับราคาน้ำมันของโลกได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะอย่าลืมว่ารัสเซียเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญอีกแหล่งของโลก มีการค้ำคูณและคะคานกันแบบวนไป จะตัดใจก็ไม่ได้ จะให้ใจก็ไม่ขาด นี่แหละครับสงครามที่อาจกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์
ทำไมบ่นไปบ่นมาเริ่มกลายเป็นรัฐศาสตร์ เดี๋ยวๆ กลับมา
น้ำมันแพงจริงๆ ครับช่วงนี้ เอาง่ายๆ ต่อให้คุณขับรถที่ประหยัดในเมืองสูงๆ อย่างพวก C-HR, KICKS แต่ถ้าใช้รถเยอะ ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรแทบจะหารถที่กินต่ำกว่าสองบาทยากละ จากเดิมที่ขิงกันหนึ่งบาทสบายๆ ดีเซลก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ในขณะที่ NGV พี่แท็กหลายคนยังอาจเติมได้ที่ 10.5 บาทต่อกิโลกรัม ราคาพื้นฐานคนทั่วไปก็ 15 บาท ส่วน LPG ฮึ่มๆ กี่รอบก็มีแก็สบ้านค้ำยันอยู่ที่ราวๆ 10-11 บาท/ลิตร (คิดเป็นบาท/กิโลกรัมแล้วยังแพงกว่า NGV นิดๆ)
พอค้ำแบบนั้น หลายคนที่ใช้รถน้อยก็อาจจะยังไม่ซีเรียส แต่สำหรับคนที่ต้องขับวันละร้อยกว่ากิโลอัพ มีซีดนะครับ อย่างเซลส์ ค่าใช้จ่ายที่ทุกบริษัทพยายามลีนกันจนตัวแบน ค่าน้ำมันมันไม่ได้โตตามเนาะ เอารถตัวเองไปใช้ จากเดิมที่ค่าน้ำมันบวกครึ่งค่าเมนเทแนนซ์สบายๆ จ่ายเองไม่เท่าไหร่ กลายเป็น Budget บาน เฉพาะค่าน้ำมันก็จะเต็มเรทบาทต่อกิโลบริษัทแล้ว แบบนี้ไม่ไหว!
บางคนบอกว่า “EV สิแอดแมว” แอดแมวก็ยิ้มอ่อน ว่า จ้ะ จากบ้านที่ไม่เคยขอไฟสามเฟส ไม่มีการทำที่จอดกันฝนทุกที่นั่ง กับอื่นๆ การติดตั้ง EV Charger ในบ้าน โดยเฉพาะถ้าจะเอาระบบที่ดีหน่อย ต้นทุนปรับเปลี่ยนทั้งหมดรวมติดตั้ง คือ Topup/Addon จากราคารถไปร่วมแสนนะครับ! เราจะประหยัด ระยะยาวถ้ามีเงินถุงเงินถัง หรือ Facilities ที่บ้านพร้อมแล้ว ทำให้มันดูประหยัดขึ้นอีกนิดมันง่าย แต่ถ้าไม่เคยมีความพร้อมระบบไฟฟ้ามาก่อนเลย มันกลายเป็นต้องจ่ายเพิ่มหลายทอด ทั้งค่ารถ ค่าส่วนต่างราคารถ (ใครมันจะเก็บรถไว้ที่บ้านเกิน 6 คัน ถ้ามีคนอยู่บ้าน 5 คน แหม…) ถึงแอดแมวจะไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยกับ ORA Good Cat หรือ MG EP แต่ก็มองว่า มีส่วนต่างที่มองไม่เห็นอีกเยอะ และก็ยังมีค่าไฟเป็นบาท/กิโลเมตร อีกราวๆ 3 สลึงขั้นต่ำ
ติดแก๊สคือคำตอบในยุคน้ำมันแพงฮะ วันนี้เราจะมาเหลากันเรื่องติด LPG ในรถบ้านฮะ
แอดแมว! แก็สมันอันตรายนะ บลาๆ แอดก็จะถามกลับว่า ที่เติมน้ำมันวิ่งกันอยู่ทุกวัน มันก็คือ “น้ำมันเชื้อเพลิง” มันมีอันตรายแน่นอนถ้าคุณติดแบบเดียวกับตุ๊กตุ๊ก คือห้อยถัง LPG บ้าน แบบเปล่าๆ ทื่อๆ ใต้รถ กระแทกนิดเดียวถึงถัง ติดแบบเน้นประหยัดไม่เน้นปลอดภัย ไม่มี Safety ใดๆ
นอกจากนี้ สำหรับคำว่า “เครื่องโทรม” แอดศึกษามาแล้ว ก็ขอมาเหลาละกันครับ!
สมัยก่อนการติดแก็ส LPG ในรถยนต์รุ่นเก่า งยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์หรือควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความแม่นยำแบบสมัยนี้ สิ่งที่คุณจะได้ยินคือ การติดตั้งมีหลายแบบ คือระบบ “ดูด/ฟิกซ์มิกเซอร์” และ “หัวฉีด” ซึ่งมีแยกย่อยกันไปอีกตามสเป็กของอุปกรณ์แต่ละรุ่นนะ
แต่ละระบบต่างกันยังไง มาดูฮะ!
“ระบบดูด หรือ Fix-Mixer” คือ ปกติการเผาไหม้ในห้องเครื่องยนต์ รถมันจะต้องดูดอากาศเข้าไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่แล้ว กรรมวิธีของระบบนี้ก็คิดง่ายๆ ดูดอากาศเข้าไปผสมกับแก็สที่ท่อร่วมไอดี ก่อนป้อนเข้าเครื่อง
การติดตั้งแบบนี้มีข้อดีคือถูก และไม่วุ่นวาย แต่ผู้ติดตั้งเองก็ต้องชำนาญในการปรับส่วนผสมของเชื้อเพลิงและอากาศให้เหมาะสม เพราะถ้าระบบรุ่นเก่าแล้ว อัตราการผสมมันจะ “คงที่” ดังนั้นมีโอกาสที่เชื้อเพลิงจะไม่เพียงพอตอนรอบสูง (Lean) และเกิดอาการแบ็กไฟร์ (Backfire) หรือเกิดการเผาไหม้ก่อนกาลอันควร เป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบไอดี ลากยาวมาจนถึงกรองอากาศหรือลิ้นปีกผีเสื้อ (ที่ควบคุมการไหลเข้าของอากาศไปสู่เครื่องยนต์) ได้
ในขณะเดียวกัน ถ้ากลัวแบ็กไฟร์ จนจ่ายเชื้อเพลิงหนาแล้วเหลือมากเกินไป ก็อาจจะไปบานออกที่ระบบไอเสีย ซึ่งมันมีความร้อนสูงเป็นต้นทุน เกิดการเผาไหม้แล้วไปยันทางโน้น ก็เกิดความเสียหายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่อู่ติดแก็สรุ่นเก่าจะห่วงประเด็น Backfire มากกว่า และอาจจะมีคนเคยได้ยินว่า ติดกรองเลส (สเตนเลส) ไปเลย แบ็กไฟร์แล้วไม่พัง ก็มีครับ
ผ่านระบบเก่าสุดไป มาระบบใหม่ขึ้น คือระบบดูดแบบผสมออกซิเจนเซนเซอร์ (Oxygen Sensor) เพื่อช่วยปรับส่วนผสมให้พอดี ซึ่งจะต้องมีคอนโทรลเลอร์/ECU ควบคุมการเปิดปิดของวาล์วแก็ส ไม่ใช่จ่ายด้วยอัตราคงที่ แต่ชีวิตก็ต้องฝากไว้กับ O2 Sensor นี้เช่นกัน ถ้าสภาพไม่ดี ผลที่ได้ก็ไม่ต่างอะไรกับระบบดูดแบบดั้งเดิม
ขยับมาระบบ “หัวฉีด” กันบ้าง
การติดแก็สระบบหัวฉีด จะมี Injector หรือหัวฉีด ซึ่งสำหรับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ มันไม่ได้จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบจานจ่ายแล้ว แต่เป็นการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์คุมหัวฉีดน้ำมัน ส่วนใหญ่คือปริมาณเท่ากับจำนวนสูบของเครื่องยนต์ เช่น เครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว ก็จะมีหัวฉีดน้ำมัน 4 หัว หรือเป็นจำนวนทวีคูณของสูบ บางรุ่นก็จะมี เช่น บล็อก HR Twin-Injector ของนิสสัน โดยมีทั้งแบบฉีดพอร์ต (Port Injection) ในเครื่องยนต์หัวฉีดส่วนใหญ่ กับแบบที่ใหม่กว่า คือเป็นแบบฉีดตรง (Direct Injection) เช่น เครื่องยนต์ D4S ของโตโยต้า, เครื่อง Mazda Skyactiv ทุกรุ่น เป็นต้น ซึ่งจะมีหัวฉีดแรงดันสูงกว่าปกติพ่นน้ำมันเข้าไปเผาไหม้โดยตรง ได้กำลังสูงและประหยัดน้ำมันแต่ระบบก็จะ Sensitive และอุปกรณ์แพงกว่านิดๆ
ทีนี้ระบบแก็สที่จะมาทดแทนระบบ “หัวฉีดน้ำมัน” ได้ ก็ต้องทำงานให้สัมพันธ์หรือเลียนแบบการทำงานของหัวฉีดน้ำมันเดิมๆ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งโดยวัดค่าจากเครื่องยนต์มาเลียนแบบเป็นแผนการทำงานของหัวฉีดแก็ส แล้วฝังระบบ/โปรแกรมให้วงจรคุมแก็ส (Controller/Board) ทำตาม ไปจนถึงระบบที่สามารถอ่านค่าจากเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบ On-Board Diagnostic (OBD) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ปี 2000+ ขึ้นไป ซึ่งระบบจะสามารถรายงานผลต่างๆ เป็นค่าที่ประมวลผลได้ เช่น ปริมาณไอเสีย อัตราการฉีดจ่ายน้ำมันในแต่ละช่วงรอบเครื่องยนต์ ฯลฯ และคุมการทำงานได้เลียนแบบวงจรฉีดจ่ายเชื้อเพลิงปกติ ทำให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้น แต่ก็อย่างว่า ของพวกนี้แลกมาด้วยการต้องมีแผงวงจรหรือ Controller/ECU ประสิทธิภาพสูงขึ้นตามระดับฟีเจอร์ของระบบ ตัวไหนที่อัพเกรดพอร์ตสื่อสาร ไปจนถึงต่อ Wi-Fi/Internet หรือพัฒนาให้มี Factor ควบคุมการทำงานหลายด้านเพื่อให้มีความแม่นยำสูง ก็จะเร็วขึ้น แพงขึ้น และซับซ้อนขึ้นเป็นธรรมดา
สำหรับเครื่องยนต์สมัยใหม่ การเลือกระบบติดตั้งแก็ส LPG เอง จึงมีหลายปัจจัยให้คิดครับ แอดแมวสรุปได้ดังนี้นะ
อย่างแรกเลย #ระบบหัวฉีด เท่านั้น
สมัยนี้ เลิกคิดถึงพวกพี่แท็กที่จับรถทุกรุ่นวาง 4AFE แล้วติดระบบดูดแบบสมัยก่อนแล้ว เพราะว่ามีความเสี่ยงทั้งจากการติดตั้งหรือจูนแก็สไม่สมบูรณ์ วุ่นวาย ไม่แม่นยำ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเครื่องยนต์ แถมต้นทุนพื้นฐานระบบแก็สเองก็ไม่ได้มีแค่ตัวคอนโทรลเลอร์หรืออะไร สุดท้ายมันจะมาหนักทั้งอุปกรณ์ติดตั้งอื่นๆ เช่น ถัง สาย วาล์ว หม้อต้ม (Pressure Regulator: อุปกรณ์ที่จะลดแรงดันแก็สและใช้ระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่องยนต์มาคุมให้แก็ส LPG ที่จ่ายจากถังไม่แข็งตัวเป็นไอและขวางทางเดินเชื้อเพลิง) ไปจนถึงค่าแรงติดตั้ง ทดสอบ และใบวิศวกร
เอาง่ายๆ ต่อให้คุณพยายามลดต้นทุนทุกอย่างไปสู่ระบบดูด เพราะหวังจะประหยัดแต่ต้น แต่ระยะยาวมันดีจริงไหม ในเมื่ออุปกรณ์อื่นๆ ตีเป็นต้นทุนก็ราวๆ ครึ่งนึงของค่าติดตั้งอยู่ดี ภาษาแอดคือมันมี Fixed-Cost ที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว เราไม่ใช่ว่าลดต้นทุนมาระบบดูดแล้วมันจะลดต้นทุนส่วนควบอื่นๆ ได้ทั้งระบบ ทำไมต้องเอาของที่เป็นมาตรฐานเก่า 20 ปี+ สมัยที่คนบ่นกันว่าติดแก็สแล้วพังมากกว่าดีมาใช้ล่ะครับ
อย่างที่สอง #ยี่ห้อดัง สำคัญ
อันนี้ไม่ได้ล้อเล่น เพราะอย่าลืมว่า รถคันหนึ่งบ้านเราใช้จนลืม 5-10 ปี เป็นอย่างน้อย ยิ่งถ้าติดแก็สแล้ว ประกันเครื่องยนต์หมดโดยอัตโนมัติ คุณต้องรับความเสี่ยงตรงนี้ให้ได้ครับ ถ้าใช้อุปกรณ์ยี่ห้อแปลกๆ หวังจะขิงว่าได้ถูกกว่าชาวบ้านนิดหน่อย แต่ใช้ไปแป๊บๆ อู่ตามกระแสเปลี่ยนชุดติดตั้งเป็นยี่ห้ออะไรไม่รู้ รู้แต่ไม่ Compatible กับของเดิม จะเซอร์วิสก็ไม่มีอะไหล่ แบบนี้อย่าหาทำ! ให้เสิร์ชเอาเลยว่ามีตัวแทนจำหน่ายในไทยจริงๆ จังๆ มั้ย พวกยี่ห้อดังหลายตัวจะมีที่มาจากประเทศยุโรป เช่น อิตาลี โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ประเทศพวกนั้นจะมี LPG เติมเชื้อเพลิงรถยนต์ ไปดูต้นทางเลยว่าเว็บเพจหรือบริษัท/โรงงานผู้ผลิต เขายังอัพเกรดรุ่นอยู่ไหม หรือเว็บตายไปแล้ว หรือไม่อัพเกรดอุปกรณ์มาสิบปีขึ้น แบบนี้อย่าเสี่ยง
ยี่ห้อที่เราคุ้นเคยกันในบ้าน แอดขอแยกเป็นแต่ละส่วน เพื่อที่จะได้พิจารณาราย Component เป็นส่วนประกอบการเลือกติดตั้ง ก่อนนะ
#ECU#Controller พวกที่เป็นยี่ห้อเลย เช่น Prins (เนเธอร์แลนด์), EuropeGas (โปแลนด์), AC (โปแลนด์) เป็นต้น พวกนี้อยู่มายาวๆ ไม่เทลูกค้า หรือจะเป็นแบรนด์ระดับที่คุ้นหูอาจจะรองลงมา แต่อยู่ยาว เช่น EnergyReform, Versus ซึ่งอยู่มาเกินสิบปีเช่นกัน อันนี้ก็เล่นได้
วิธีการเลือก: ถ้าเป็นไปได้ พยายามเลือก “แพงที่สุดเท่าที่จ่ายไหว” สำหรับรถรุ่นใหม่ เพราะช่วยให้ฉีดจ่ายแก็สแม่นยำ จูนง่าย ลดปัญหาการเข้าอู่มาจูนแมพใหม่บ่อยๆ การเซอร์วิสจะทำสะดวกมากแค่เช็คสภาพกับเปลี่ยนถ่าย/กรองแก็ส เท่านั้นเองครับ
ความพิเศษและเทคนิคของ ECU แต่ละยี่ห้อจะไม่เหมือนกันตรงพวกตัวแพงๆ เช่น บางรุ่นจะมีคอนโทรลเลอร์ในตัวที่อาจไม่ได้สนใจสัญญาณจากเครื่องยนต์เลย พูดง่ายๆ ว่า ต่อให้เครื่องเป็นระบบก่อนจะมี OBD พี่ก็ฉีดจ่ายแม่นนะ! หรือ บางรุ่นตัวทอปๆ มีระบบ Timing Advance Processor (TAP) ที่ช่วยปรับองศาไฟ ภาษาแอดแมวคือปรับไฟแก่ ให้สอดคล้องกับค่าออกเทนแก็สที่ไม่เท่ากับน้ำมัน เพื่อให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็มี แต่ TAP เอง มันมีการอ่านสัญญาณและทำงานเพิ่ม ก็อาจจะไม่เข้ากับเครื่องยนต์บางรุ่นเป็นไปได้ครับ เรื่องปกติ ขอแค่ให้อู่อธิบายรู้เรื่องว่ารถคุณเหมาะกับรุ่นไหน ไม่ต้องจ่ายแพงเกินไปสำหรับระบบที่ไม่ได้ใช้งาน/ใช้งานไม่ได้ อันนี้แหละ อู่ที่ดีควรทำ
อีกอย่างหนึ่งคือในกรณีของการติดแก็สกับเครื่อง Direct Injection ปกติมันจะต้องมีการคุม “จ่ายร่วม” หมายถึงต้องสลับมากระตุ้นการทำงานของหัวฉีดน้ำมันแรงดันสูงปกติ มาช่วยจ่ายลดความร้อนและป้องกันการเสื่อมสภาพในระบบราวๆ 5-10% ซึ่งแต่ละอู่ย่อมมีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งรายยี่ห้อไม่เท่ากัน ถ้า “อธิบายรู้เรื่อง” ถามอะไรตอบได้แม้จะเป็นคำถามพื้นๆ ไม่รำคาญ อย่างน้อยผ่านแล้ว 1 ในขณะที่บางอู่ ในฐานะผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่า (สรรพนาม) ช่วยคิดนิดนึงว่านี่หอบเงินไปให้ติดตั้ง ยังกวนโอ๊ยขนาดนี้ ถ้าอนาคตติดตั้งไปแล้วมีปัญหาจะขนาดไหน ก็ตามนั้นฮะ
#หม้อต้ม (Pressure Regulator) เน้นว่ามาจากประเทศที่ใช้แก็ส แต่ที่เราคุ้นหูสุด อาจจะเป็น Tomasetto/AG (อิตาลี), Atiker/GKS พวกนี้จะดังมานานมาก ไปจนถึงตัวใหม่ๆ ที่อาจจะไม่คุ้นหูแต่เริ่มมีการใช้ติดตั้งในอู่มาตรฐานกรมการขนส่งทางบกหลายเจ้า เช่น Magic
วิธีการเลือก: เลือกยี่ห้อที่พอจะเสิร์ชแล้วหลายอู่ใหญ่ๆ เขาใช้กัน และระบุ “แรงม้า” ไว้เกินกว่าของเครื่องตัวเองไม่น้อยกว่า 50% เพื่อเป็น Safety Margin เพราะหม้อต้มแรงม้าสูง จะรองรับการ “อุ่นแก็ส” และจ่ายออกได้เพียงพอกับความต้องการเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเหยียบหนักหรือเบานั่นเอง
#ถังแก็ส ตามกฎหมายเรามีอย่างเดียว “มอก. และผลิตในประเทศ” ดังนั้นอันนี้เลือกให้เหมาะสมละกันครับ ว่ารถของคุณจำเป็นต้องใช้พื้นที่ส่วนกระโปรงท้ายรถและ/หรือยางอะไหล่หรือไม่ บางรุ่นอาจจะตัดสินใจง่ายเพราะมีหลุมยางอะไหล่อยู่แล้วแต่ก็ไม่เคยมียางอะไหล่ จะติดแบบ “โดนัท” ก็ติดไปเลย แพงกว่าแต่ไม่เสียพื้นที่ แต่บางคนใช้รถซีดานที่เสียพื้นที่หลังได้อีกนิดๆ หรือเป็นรถที่จะเปลี่ยนจาก CNG โรงงานเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถังใหญ่ “แคปซูล” เปลี่ยนมา LPG แรงดันต่ำกว่าก็แค่วางแทนที่เดิม ยังเหลือที่อีกเยอะ ก็จัดไปฮะ ได้ถังใหญ่กว่าถูกกว่าด้วย
ที่สำคัญคือ ต้องได้มาตรฐานและไม่เก่าเกินไป เพราะถังมีอายุการใช้งาน 10 ปี นับจากติดตั้ง ถังมือสองควรหลีกเลี่ยง และกรณีพื้นที่ติดตั้งแปลกๆ ยกตัวอย่างเช่น Honda Mobilio ที่ต้องติดใต้ท้องรถแทน “ที่แขวน” ยางอะไหล่ หรือรถที่อาจไม่มีคานกันชนท้าย/ท้ายสั้น อาจพิจารณาอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น กันแคร้งก์ หรือคานกันชนหลังแบบ Aftermarket เพิ่มเติม ถ้าเป็นไปได้
#ชุดติดตั้ง อื่นๆ: ได้แก่ วาล์ว สาย และหัวฉีด อันนี้แอดบอกตรงๆ ว่า ลองเทียบราคาข้ามอู่ดูครับ เพราะส่วนที่ Vary ให้เกิดส่วนต่างราคาจริงๆ มักจะอยู่ตรง ECU กับรางหัวฉีดเป็นหลัก ส่วนหัวฉีดเนี่ย ถ้าเป็นไปได้ก็เลือกที่ “Cycle การทำงานเยอะที่สุดเท่าที่ราคาจะไม่กระโดด” แต่ละเจ้าเขาจะมีวิธีดีล Supplier ไม่เหมือนกัน รวมทั้งการโฆษณาด้วยครับ เอาง่ายๆ Keihin ตัวทอป Cycle เยอะ Flow Rate ดี แต่ส่วนต่างราคาคุ้มไหมสำหรับรถบ้าน โดยเฉพาะพวก Port-Injector ลองดู แต่ถ้ารถที่ต้องการความแม่นยำ เครื่อง Sensitive มากๆ การใช้หัวฉีดตัวทอปไปเลยก็ทำให้เครื่องทำงานได้ดีขึ้น ลดปัญหาระยะยาวได้เช่นกัน
ที่เหลือเป็นประเด็นรองมากๆ สายแก็สถ้าได้เกรดดี เช่น บางอู่ใช้เกรดทนความร้อนมีเคฟลาร์ถัก ก็ดี และอาจศึกษาวิธี “เก็บงานติดตั้ง” ของแต่ละเจ้า เพราะทฤษฎีแต่ละที่ไม่เหมือนกัน บางที่การติดตั้งหัวฉีดแบบราง กับแบบเดี่ยว ก็คิดกันคนละแบบ สำคัญสุดคือต้องมิดชิดและมีประสบการณ์ติดตั้งมาก่อนจะดีมาก ถ้ารถเราเป็นหนูลองยาไม่เคยมีประวัติติดตั้งมาเลย ควร “เจรจา” ขอส่วนลดหรือประกันเพิ่มจะเป็นการดี
ช่วงก่อนสุดท้าย เราเป็นเพจถูกเสมอก็จริง แต่เราแนะนำให้ “คุย” และเลือกก่อนติดตั้งให้ดีครับ เพราะมันถือเป็นการดัดแปลงแก้ไขเครื่องยนต์ในระดับที่อาจส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ใช่อู่ไม่ดังจะไม่ดี แต่เกณฑ์เลือกใช้ อย่างน้อยที่สุดถ้าจะเอาอู่ถูก ให้เลือกอู่ที่ใช้อุปกรณ์พื้นฐานยี่ห้อที่ชาวบ้านเขาใช้กัน ที่ประหลาดเกินอาจต้องระวังไว้บ้าง
และหากตัดสินใจติดตั้งแก็สแล้ว สิ่งที่ควรคิดไว้ก็จะมี 3-4 เรื่อง ครับ
- การเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็น LPG อาจทำให้คุณประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้คร่าวๆ ประมาณ 60% เมื่อเทียบกับราคาแก็สโซฮอล์ 95 36 บาท และ LPG 12 บาท (ซึ่งต้องจ่ายหนากว่าน้ำมันเล็กน้อยด้วย) ตอนนี้ครับ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณประหยัดทั้งหมดได้ 60% เน็ตๆ นะ
เพราะอะไร? เพราะคุณต้องคิดด้วยว่าคุณต้องบำรุงรักษาระบบที่ติดตั้งเพิ่มเติม และต้องระวังจุดข้อต่อต่างๆ เช่น ระบบน้ำหล่อเย็น ที่ต้องต่อเข้าหม้อต้มเพิ่มอีก 1 จุด, พื้นที่ติดตั้งต่างๆ เช่น จุดที่ต้องเจาะตัวถังเดินสาย มีสนิมหรือมีอะไรหรือไม่, ไปจนถึงควรใช้ระบบน้ำมันเดิมบ้าง เพื่อป้องกันความเสียหาย… ระบบแก็สดีๆ เขาจะมีการปรับอัตโนมัติด้วยซ้ำว่าให้ “สตาร์ทน้ำมันจนกว่าระบบน้ำหล่อเย็นจะได้อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับหม้อต้ม” อันนี้ก็ลองถามอู่ได้ครับ
ถ้าเป็นไปได้ ส่วนต่างที่ประหยัดได้จากน้ำมัน เก็บไว้สัก 20% สำหรับบำรุงรักษาระบบแก็ส และอัพเกรดน้ำมันเครื่องให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้รถอยู่กับเรานานๆ ถามเรื่องน้ำมันเครื่องแอดแมวได้นะ เพราะถ้าใครใช้พวก 0W-20 มา อาจจะไม่ได้เหมาะเสมอไปที่จะใช้ของเดิม โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องศูนย์รถญี่ปุ่นบางยี่ห้อ เกรดเดิมก็ต่ำอยู่แล้ว มาใช้แก็สที่ 90% เครื่องจะร้อนขึ้นนิดๆ มันเกินประสิทธิภาพที่จะเอาอยู่ เป็นต้น
2. แก็สคือเชื้อเพลิงที่มีแรงดันสูงกว่าน้ำมัน ให้เช็คโครงสร้างรถยนต์ว่าเหมาะสมหรือไม่ สังเกตอาการต่างๆ กลิ่นรั่ว โครงสร้างซัพพอร์ตกรณีเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน อย่างที่เขียนไว้ข้างบน เช่น โครงเหล็กคานกันชน+โฟม อาจต้องมีนะครับ
3. “ลงเล่ม” ขนส่ง ตามกฎหมาย เพราะถึงคุณจะสามารถต่ออายุทะเบียนในช่วง 7 ปี แรก โดยยังไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสภาพรถยนต์ หรือ ตรอ. แต่ก็ควรแจ้งเปลี่ยนแปลงชนิดเชื้อเพลิงให้ถูกต้อง ป้องกันปัญหาต่างๆ
4. “แจ้งประกัน” เพื่อให้ชัดเจนและขยายความครอบคลุม เพราะประกันที่ไม่ใช่ชั้น 1 หลายประเภทกรมธรรม์จะไม่ครอบคลุมไฟไหม้นะครับ โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาจากการใช้แก็สที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เราพิมพ์แบบนี้อาจจะสร้างความรู้สึกแรงๆ นิดนึง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงเนาะ
สุดท้ายที่ต้องย้ำ คือ การติดแก็ส LPG อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะว่ารถยนต์ที่วิ่งไม่เยอะจนจุดคุ้มทุนนานเกิน (น้ำมันอาจจะลดอีกก็ได้?) หรือรถยังอยู่ในประกัน (ซึ่งการดัดแปลงเครื่องยนต์และระบบน้ำจะส่งผลให้ประกันเครื่องยนต์ขาดโดยอัตโนมัติ – อาจจะพ่วงไปยังส่วนอื่นๆ บางยี่ห้อรวมถึงช่วงล่างด้วยเพราะต้องรับน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน) ดังนั้น แอดแมวขอให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า ถ้าน้ำมันยังไม่ได้แพงระดับ 50 บาท/ลิตร แล้วคุณวิ่งไม่ถึง 10,000 กิโลเมตร/ปี ไม่จำเป็นต้องติดแก็สครับ
ใครสนใจมีอะไรถามไว้ได้ฮะ จะถามลายแทงหรืออะไรก็ได้ ส่วนอู่ไหนอยากโฆษณา เดี๋ยวทำไว้ให้ Reply นึง มาลงกันไว้ได้! ฝากไลค์ฝากแชร์เป็นกำลังใจให้เราด้วยนะคร้าบ
แอดแมว(เมา)@ถูกเสมอ
26 กุมภาพันธ์ 2565