แมวมองส่องประกัน: มุมมองผู้บริโภค
หลังจาก คปภ. กำหนดให้ใช้มาตรฐานประกันสุขภาพ New Health Standard เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 แอดแมวเองขณะนั้นเพิ่งรู้ว่าตัวเล็กกำลังจะมา แล้วก็ กุมขมับเล็กน้อยว่า หลังจากรอบมกราคม 2564 มันปรับเบี้ยประกันไปรอบ เอาง่ายๆ ว่าเจ้าที่เงื่อนไขเหมาจ่ายดีสุดในตลาด คือโตเกียวมารีนฯ (ณ ขณะนั้น) ก็เบี้ยเด้งไปไกลแล้ว ตอนนี้ขึ้นฟ้าไปเลย น่าจะถือว่าเป็นมูลค่าฝั่งประกันสุขภาพที่แซงเงินเฟ้อไป 5-6 เท่า/ปี ตั้งแต่ช่วงที่มี COVID-19
หลายคนมองว่า เฮ้ย ในเมื่อเบี้ยประกันมันบินขึ้นฟ้าแบบนั้น สู้เราเก็บเงินไว้กับตัวเผื่อจ่ายดีกว่าไหม เราคงความเสี่ยงต่ำแหละ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะจริงสำหรับคนที่หาเงินได้ระดับ 2 แสนบาท/เดือน เพราะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่เรื้อรังได้แทบทุกโรคสบายๆ
แต่เพื่อให้มองสองด้าน แอดแมวก็จะยกตัวอย่างอะไรให้ดูครับ ว่าเราเกิดอะไรกันขึ้นมาใน 3 ปีนี้
- กรมธรรม์ประกันสุขภาพหลายแบบ ในสมัยก่อน มีความพร้อมด้านการให้ผลประโยชน์สูงกว่า เพราะปัจจัยเสี่ยงสมัยนั้น ต่ำ แม้จะเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งที่ประกันมีโอกาสไม่ต่อสัญญา หรือมาพบปัญหาแถลงสุขภาพภายหลัง แต่ก็เท่ากับต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขกรมธรรม์จนถึงที่ไม่ผิดตามสัญญา
- COVID-19 เปลี่ยนโลก ด้วยการมาของไวรัสโคโรน่าตัวนี้ ทำให้อัตราการเคลมประกันสุขภาพตามเงื่อนไขเดิมพุ่งไปถึงระดับที่น่ากลัวมาก ต่อให้ผู้ป่วยอาการไม่หนัก แต่สิ่งหนึ่งที่อันตรายสำหรับการบริหารเฉลี่ยความเสี่ยง คือ “การครองเตียง” ในขณะที่โรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคเรื้อรัง หรือผ่าตัด อาจจะมีเวลานอนพักฟื้นประมาณ 7-10 วัน แต่ COVID-19 เมื่อมาตรฐานสมัย Wuhan จนถึง Delta แทบจะเป็นโรคที่ครองเตียง 2 สัปดาห์+ และเป็นโรคทางเดินหายใจที่มีอัตราการแพร่กระจายสูง-รวดเร็ว จึงมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก1 วัน ในโรงพยาบาล ย่อมไม่ได้มีแค่ค่าห้อง แต่มีค่ามื้ออาหาร เยี่ยมไข้ หัตถการ ทดสอบห้องปฏิบัติการ วัสดุสิ้นเปลือง และรวมไปถึงค่าชดเชยรายได้ หรือแม้กระทั่งประกันบางเจ้า “เจอ-จ่าย-จบ-เจ๊ง” ไปก็มี
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พุ่งสวนทางจำนวนประชากร แต่ที่เพิ่มเอาๆ คือเงินเฟ้อ โดยเฉพาะภาวะช่วงนี้เป็นทั้งสงคราม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ทำให้ความเสี่ยงการดำรงชีวิตต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งการรับมือโรคภัยไข้เจ็บ ที่อาจจะน้อยลงหน่อยคืออุบัติเหตุ เพราะมนุษย์มีกิจกรรมนอกบ้านลดลงอย่างเห็นได้ชัดในยุคโควิด หลายคนจากที่แอนตี้ประกันจึงเริ่มมาทำกันจริงจัง
- ความพลิกแพลงในเงื่อนไขทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่รู้ใครจะหลอกใครก่อน อย่างที่แอดแมวก็เป็น คือ แต่ก่อนจะกลัวคนขายประกันมาก เพราะรุ่นก่อนๆ เราต้องยอมรับความจริงนะ “สักแต่ว่าขายและสื่อสารเฉพาะจุดดี” กันเยอะจริงๆ การ Hard Sell ในสมัยก่อนบังคับใช้ New Health Standard จึงยังคงมีอยู่ ประกันบางเจ้าจึงอาจมีการแถลงเงื่อนไขที่ “เปรียบเทียบได้ยาก” และทำให้ผู้จะซื้อเข้าใจว่าได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มค่ายอดเยี่ยม ในขณะที่ตัวแทนประกันรุ่นใหม่หลายคนที่พยายามทำมาตรฐานวงการประกันให้ดีขึ้น แต่คนก็ผวากันไปแล้ว และที่เหลือก็มีส่วนหนึ่งที่หวังใช้ประโยชน์ประกันโดย Tricky โดยเฉพาะการแถลงสุขภาพ ตัวประกันเองก็ต้องระวังการขาดทุน ไปจนถึงกรณีอาจมีผู้ทำกรมธรรม์แบบศรีธนญชัย หัวใส แบบเดียวกับที่ทำเจอ-จ่าย-จบ แล้วเอาตัวเองเข้าไปมีความเสี่ยง COVID-19 รับเงินทีเป็นล้าน หรือพวกทำชดเชยรายได้ซ้อนๆ แล้ว “หาเรื่องป่วย” รับชดเชยมากกว่ารายได้จริง ก็มีอยู่จริงดังนั้นเมื่อเกิดการยกเลิกกรมธรรม์หลายๆ กรณี จึงมีโอกาสที่จะเป็นความผิดของทั้งบริษัท Agent และผู้ที่ทำกรมธรรม์ ใครมีโอกาสก่อนหาช่องได้ก่อนก็ได้เปรียบ อะไรประมาณนั้น
- ค่ารักษาพยาบาลทุกรายการเพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยเฉลี่ยเท่าที่แอดแมวไปไล่สองคือ 2-3 เท่า ของเงินเฟ้อ หรือตอนนี้ก็ราวๆ 8-9% ดังนั้นในส่วนของประกันสุขภาพจึงมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น และสุดท้าย… Aging Society ทำให้โอกาสได้รับเบี้ยประกันจากบุคคลวัยทำงานลดลง ในขณะที่ประกันรุ่นเก่ายังอาจคงความคุ้มครองต่อผู้ซื้ออายุยืน ความเสี่ยงมันเพิ่มตามวัย และหลายเจ้าอาจเริ่มพบปัญหาไปจนถึงระดับกองทุนได้ถ้ายังบริหารจัดการด้วยวิธีเดิม ในขณะที่เงินเฟ้อ ค่ารักษาพยาบาลก็ขึ้นตามต้นทุน แต่ประกันมันรับรายได้มาบริหารจัดการ (อาจจะด้วยการลงทุนตราสารหนี้หรือรูปแบบอื่นๆ) ไม่ทัน ก็บอมบาเย่!ทั้งหมดคือสาเหตุที่ “เบี้ยประกันสุขภาพ” ย่อมเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะธุรกิจเขาก็ต้องการกำไร ถ้าลีนกำไรมากไปก็ไม่น่าจะดีต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นธรรม ตรวจสอบได้ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค บนพื้นฐานกฎหมายรองรับที่คุ้มครองความเสี่ยงทั้งสองฝ่าย
มาตรฐาน New Health Standard
จึงมีจุดที่ทั้งเป็นธรรมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมองว่าเป็นภาระของผู้ทำประกันด้วย เพื่อไม่ให้ทั้งวงจรพังจากการที่ใครสักคนไม่แถลงสุขภาพ โดยเฉพาะเคส Pre-Existing Condition หรือโรค/ภาวะที่เป็นมาก่อนเอาประกันจุดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ศึกษาและจะทำกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ณ ปัจจุบัน ก็คือ
1. หักภาษีเงินได้
ทีนี้ในส่วนของประกันสุขภาพส่วนใหญ่ มักจะมีสภาพเป็นกรมธรรม์คุ้มครองแบบจ่ายทิ้งเสริมประกันชีวิตนิดๆ ที่ถ้าภาษาแอด ก็คือไม่มีมูลค่ากรมธรรม์ (มูลค่าเวนคืน) มีแต่ความคุ้มครองเฉยๆ แต่ก็จะมีบางเจ้าที่ให้โบนัสล่อใจหน่อยๆ ประมาณ “ไม่เคลมมีคืน” กี่ % ของเบี้ยก็ว่าไปนั่น หลายคนก็จะรู้สึกว่า เออ มันเป็นภาระแหละ ต้องคำนวณให้เหมาะสม เพราะมันเอาไปทำอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะถ้าเป็นประกันสุขภาพลูก มันหักภาษีเงินได้พ่อ/แม่ ไม่ได้นะครับ ตามประมวลรัษฎากร มันจะได้แค่จ่ายเบี้ยให้ตัวเอง คู่สมรส และพ่อ/แม่ เท่านั้น
2. UnitLinked
จากข้อจำกัดประกันสุขภาพจ่ายทิ้ง ปัจจุบันก็จะมีประกันบางเจ้าที่ออกแบบมาให้เจ้าของรู้สึกคุ้มค่า คือทำในลักษณะ “ประกันพร้อมลงทุนที่มีมูลค่ากรมธรรม์และคุ้มครองระยะยาว” ที่ต้องจ่ายเบี้ยในอีกรูปแบบ แทนที่จะเพิ่ม/ลด ตามช่วงอายุ เช่น 0-5 ปี ความเสี่ยงสูงเบี้ยแพง 6+ เบี้ยลดลงมาเหลือ 1/3 และไปเพิ่มอีกทีตอนสูงอายุ อันนี้ก็จะกลายเป็นเบี้ยคงที่เพื่อให้บริษัทประกันมีเงินเอาไปหมุนก้อนใหญ่กว่า โดยมีผลประโยชน์ล่อใจเป็นมูลค่าประกันในระยะยาวที่ “เวนคืนได้” แต่ก็จะมีลักษณะประกันเป็นตราสารหนี้ที่มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งเท่ากับจะไม่สามารถทำกับตัวแทนประกันภัยปกติได้ ต้องเป็นผู้ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารหนี้แบบซับซ้อนกับ กลต. เท่านั้น จุดนี้ต้องระวังมากๆ ในการศึกษาสิทธิประโยชน์และข้อมูล แต่ถ้าเป็นคนที่เข้าใจระบบการลงทุน+ดอกเบี้ย+บัญชี จะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าปกตินิดหน่อย
3. ประวัติสุขภาพ
ข้อกำหนดใน New Health Standard การให้ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งสองฝ่ายจึงจำเป็น ทีนี้ในส่วนของการทำประกันสุขภาพ เด็กน้อยส่วนใหญ่ประกันจะมี Lead Time ก่อนคุ้มครอง 30 วัน และมีผลคุ้มครองอย่างเร็วเมื่ออายุ 1 เดือน ระหว่างนั้น/ก่อนหน้านั้น ก็ย่อมมีโอกาสเกิดภาวะ/โรค หรืออื่นๆ ซึ่งหลายตัวเป็น Life Threatening หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าไม่ คือเป็นสภาวะปกติที่เลี้ยงในสถานที่เหมาะสมสำหรับดูแลเด็ก เด็กเล็กมีแนวโน้มที่จะประวัติ “คลีน” กว่าผู้ใหญ่ ความคุ้มครองก็มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าหรือทำไปเลยตั้งแต่แรกจะไม่ต้องยกเว้นความคุ้มครองในแถลงสุขภาพ เป็นต้น
ปัจจัยเลือกซื้อ
ดังนั้น เมื่อมาดูประกันสุขภาพ แอดจะไม่แยกของเด็กหรือผู้ใหญ่เนาะ เพราะมันต้องดูปัจจัยเลือกซื้อคล้ายๆ กัน ตัวหลักๆ ก็จะเป็นตามนี้ครับ
- ภาพรวมความคุ้มครอง ของกรมธรรม์เพียงพอหรือไม่ – เงื่อนไขแรกที่ควรดู คือ เป็นประกันคุ้มครองแบบเหมาจ่าย หรือเป็นประกันที่มีเงื่อนไขจุกจิก ซึ่งถ้าเหมาจ่าย อารมณ์ เคลมอะไรก็ได้ที่ไม่ติดเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองปีหนึ่งๆ ไม่เกิน x แสน/ล้านบาท มันก็คิดง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นจุกจิก อาจจะต้องดูรายละเอียดแต่ละเจ้าว่าเน้นตรงไหนมากกว่ากัน เพราะมันมีเคสอยู่ว่าประกันเด็กคุ้มครองมูลค่าจำกัด/ครั้ง แล้วกลายเป็นใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ สู้กัดฟันทำเหมาจ่ายสักตัวไปเลยก็ได้ทีนี้ประเด็นคือภายใต้ New Health Standard นี่แหละ มันทำให้เรื่องประกันที่รวมเหมาจ่าย (แอดแมวเรียกว่าโคตรพรีเมียม) เบี้ยมันดีดขึ้นไปจากช่วง 35,000+ ขึ้นไป 50,000+ อันนี้เป็น Initial สำหรับเด็กแรกเกิดนะ ส่วนถ้าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เข้าวัยฉกรรจ์ จะเห็นผลต่างไม่เท่าเด็กครับ ทีนี้ก็มาดูกันต่อในส่วนโรงพยาบาลที่สะดวกใช้บริการ หรือในย่านที่พักอาศัย ว่า ณ ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายต่อวันเป็นเท่าไหร่ ซึ่งสามารถสอบถามได้จากเคาน์เตอร์พยาบาล เว็บไซต์ หรือข้อมูลเผยแพร่ (ส่วนมากโรงพยาบาลที่ดีจะมีระบุไว้หรืออย่างน้อยที่สุดสอบถามได้)
- ผู้ป่วยใน – ค่าห้องและค่าใช้จ่ายทั่วไปต่อวัน ร่วมกับเงื่อนไขชดเชยรายได้เมื่อพิจารณาโรงพยาบาลแล้ว ลองคำนวณว่าค่าห้องเป็นเท่าไหร่ โดยให้ดูเงื่อนไขรวมเปรียบเทียบกันระหว่างค่าห้อง อาหาร (และอาจจะค่าแพทย์เยี่ยมต่อวัน) ว่าประกันที่เราสามารถซื้อและจ่ายเบี้ยต่อเนื่องไหว “คุ้มครองเพียงพอ” หรือมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเพิ่มมากเกินไปจนควรจะอัพไปเป็นประกันอีกระดับหรือไม่ เช่น ถ้าโรงพยาบาลที่เราพึงพอใจฝากชีวิตไว้ได้ ค่าห้อง 4,000/วัน สำหรับเดี่ยวพิเศษ เราทำประกันคุ้มครอง 2,500 นั่นคือจุดที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถ้ามีชดเชยรายได้ต่อวัน ก็ถือว่ามาตัดทอนค่าใช้จ่ายโดยรวมของเราลงไปได้อีกนะ ค่าหัตถการ/ผ่าตัด ต่อครั้ง (ถ้าไม่ใช่เหมาจ่าย) คุ้มครองจริงๆ เท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ อันนี้จะขึ้นอยู่กับความคุ้มครองและเจ้าของประกันแต่ละที่ดีไซน์ไม่เหมือนกันครับ สำคัญคือคุณอยู่โซนไหน ใช้บริการโรงพยาบาลอะไร ถ้าเป็นกรุงเทพพวก Central Business District ที่โรงพยาบาลเอกชนแพงๆ ทำเหมาจ่ายแบบ 5 ล้าน/ปี ไปเถอะ อย่างเครือ BDMS หรือที่แพงกว่านั้น ควร-อย่าง-ยิ่ง ไม่งั้นป่วยทีเดียวต่อให้มีประกันคุ้มครองไว้ก็ขายบ้านขายรถอยู่ดี
- ผู้ป่วยนอก – อันนี้เขียนไว้ให้พึงระวัง ว่า Outpatient หรือผู้ป่วยนอก เงื่อนไขแต่ละประกันอาจจะเขียนไว้ไม่เท่ากัน อยากให้อ่านกรมธรรม์ให้ละเอียดมากๆ มันสามารถตีความจุดใดเป็นในเงื่อนไขรวม OPD/ปี ได้อีกหรือไม่ เช่น วัคซีน ถ้าได้ก็อาจจะมีความคุ้มค่าเพิ่มขึ้น
- Follow-up – กรณีเป็นการนัดมาติดตามอาการต่อเนื่องจากผู้ป่วยใน ให้ดูเงื่อนไขประกันว่าเขียนไว้แบบไหน รองรับเท่าไหร่ (กรณีไม่เหมาจ่าย) อันนี้หลายคนจะงง บอกเลย คิดไว้จากประมาณค่ามองหน้าหมอกับค่ายากลับบ้านทั่วไปว่าเคสปกติประมาณๆ เท่าไหร่ครับ
- อุบัติเหตุ หรือเคสเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องนอน รพ. – อันนี้ก็เขียนไว้ให้ระวังเช่นกัน เพราะถึงส่วนเพิ่มจะไม่มาก แต่แอด คหสต. นะ อยากให้ตัดไปก่อนเป็นลำดับแรกในการพิจารณาว่าประกันนั้นดี/ไม่ดี ถ้าไม่ใช่พวกเหมาจ่ายแล้วมีจำกัดต่อครั้ง บัตรเครดิตหรือเดบิตบางตัวที่คุณสามารถเอามาจ่ายคุ้มครองอุบัติเหตุอยู่แล้ว มันมีครับ ต่อครั้งเยอะด้วย ซึ่งเงื่อนไขประกันถ้าอ่านแล้วไม่งง ให้ดูดีๆ ว่า “อุบัติเหตุเล็กที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล” เอาอยู่หรือไม่ ซึ่งเอาล่ะ สำหรับเด็กอาจจำเป็น แต่ผู้ใหญ่คงไม่!อย่าลืมว่าถ้า “เคสเบา” จริงๆ สำหรับประกันทั่วไป มันมีเงื่อนไขโรคที่ไม่เกี่ยวกับการเคลมประกันสุขภาพอยู่แล้วนะครับ มันเป็นสิ่งที่เราต้องพร้อมเผื่อของเราแหละ ในส่วนประกันเด็กน้อย หลายเจ้าจึงแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับ OPD ด้วยซ้ำ เพราะเด็กนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจจะนอนโรงพยาบาล ในขณะที่หาหมอต่อวัน อย่างมากเอ้าพูดจริงๆ 2-3 พัน สิ่งนี้มันไม่ควรทำให้ค่าเบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นนะฮะ กันไว้จ่ายเองยังจะดีเสียกว่า
สุดท้าย อันนี้เช่นกันไม่อยากให้ตกม้าตาย เงื่อนไขร่วมจ่ายมันจะเหมือนบางคนที่ทำประกันรถยนต์โดยไม่ได้ดูว่ามีค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible/Excess) คิดไปเองว่าเบี้ยถูก ถึงเวลาเงื่อนไขเก็บยิบย่อย อาจจะดูเจ้าที่ความเสียหายส่วนแรกหรือร่วมจ่ายมีจำนวนจำกัด เช่น ไม่เกิน xx,xxx บาท/ปี ในขณะที่พวก 20% หรือมากกว่า อาจเป็นเงื่อนไขพึงระวังนะครับ สู้จ่ายเบี้ยคุ้มครองเต็มส่วนอาจดีกว่า
เพื่อการดีไซน์กรมธรรม์ที่เหมาะสมให้แต่ละท่าน แอดแมวคิดแบบ คหสต. แบบนี้
- เด็กน้อยแรกเกิด – ถ้าพ่อแม่กด Unit-Linked ตัวแพงได้ก็กด แต่ถ้าไม่ได้ จ่ายทิ้งแบบครอบคลุม รพ. ที่ใช้บริการประจำได้ ควรทำ
- เด็กน้อย 6+ – ทำไปเถอะครับ เบี้ยถูก โรคติดต่อได้เยอะจากวัยเรียน ทำคุ้มครองเหมาจ่ายยังคุ้ม (ใครทำ Unit-Linked มาตั้งแต่เด็กน้อย มูลค่ากรมธรรม์จะเริ่มเพิ่มก็จริง แต่จะตาปริบๆ ใส่พวกเบี้ยจ่ายทิ้งเหมือนกันนะ เพราะเขาจะจ่ายถูกกว่าช่วง 0-5 ปี ประมาณ 60-70%)
- วัยรุ่น-เริ่มทำงาน – เริ่มทำก่อน 35+ จะดีมากเลย อาจมองประกันที่ได้ชดเชยรายได้ต่อวันด้วยก็ดีนะครับ เพราะส่วนมากจะเริ่มเป็นหัวหน้าครอบครัวกันละ แล้วก็ที่สำคัญ ถ้าถึงวัยที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้เนี่ย ประกันสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ของตัวเองได้ตามประมวลรัษฎากรนะครับ หากไม่มีประกันกลุ่มของที่ทำงาน พิจารณาทำไว้ตั้งแต่ตอนนี้ จะเบี้ยถูกกว่าไปเริ่มหลัง 45+
- 45-ก่อนเกษียณ – ปัจจัยเสี่ยงหรือความเสื่อมอาจส่งผลให้แถลงสุขภาพมีประเด็น แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ แต่ช่วงอายุประมาณนี้รายได้อาจมั่นคงและทำตัวเบี้ยแพงได้มากกว่า ก็เป็นได้ แค่อาจจะเสียดายนิดๆ ที่ไม่ทำตั้งแต่อายุยังน้อยหรือสุขภาพยังดี
- เริ่มทำประกันหลัง 60+ – อาจสายพอสมควร โดยเฉพาะถ้าลูกหลานไม่ได้ทำให้ หากไม่ได้มีเงินหลังเกษียณหรือ Passive Income การจ่ายเบี้ยถือว่าหนักพอสมควร แต่ก็ยังดีกว่าทำหลัง 65-70 ที่หลายเจ้าจะเริ่มไม่รับแล้ว เน้นประกันชีวิตก็ดีเหมือนกันครับ
ที่สำคัญ “ทำก่อนคุ้มครองก่อน” ตราบใดที่เราไม่สามารถเอาแน่เอานอนกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย จนกว่าทุกคนจะหันมาจ่ายภาษีเงินได้กัน บ้านเราจะเบี้ยประกันลดลงทั้งประเทศ และสวัสดิการให้ทุกคนก็จะดีขึ้นครับ ส่วนแอดแมวพิจารณาแล้วทั้งหมด เนื่องจาก ผบ.ทบ. มีประกันกลุ่มที่สามารถ Top-up ให้คุณลูกได้ เลยเตรียมทำ Unit-Linked กับเจ้าหนึ่งไว้ เบี้ยใกล้ๆ กับจ่ายทิ้งตัวกลางๆ แต่ต้องจ่าย Constant ราวๆ 20 ปี ไม่ได้ Enjoy ช่วง 6+ ครับ และฝากไว้อีกรอบ “จ่ายภาษีเงินได้ เป็นรายได้พัฒนาชาติ กันนะครับ”
ทุกอย่างเป็นความเห็นและการประมวลส่วนบุคคล เพิ่มเติมแก้ไขหรือคอมเมนต์ได้ครับ และที่สำคัญ “ฝากลิงค์ฝากโฆษณาประกันสุขภาพได้ด้านล่างจ้า” แอด(พ่อ)แมว@ถูกเสมอ22/5/22 วันเลขสวย