Power Supply ใช้แพงให้จบเถอะครับ บายแอดแมว

วันก่อนถ้าจำได้ แอดแมวเขียนเรื่องกล้องติดรถยนต์ไป ว่าเป็น 1 ใน 3 อุปกรณ์ ที่ขอกรุณา “ลงทุนให้จบ อย่างกงบ เดี๋ยวมาเสียดายทีหลัง” นอกเหนือจากเก้าอี้ Ergonomic กับเมาส์ทำงาน Power Supply ก็เช่นกัน

วันนี้มานั่งนึก เอ้ย เราลืมอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปเสียสนิท ส่วนหนึ่งก็คือแอดแมวเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ประกอบคอมเอง ปัญหาหลักคือเป็นคนที่ไฟฟ้าสถิตแรงมาก ใส่ Shield Glove ก็ไม่ช่วย ซึ่งแรงขนาดไหน เอาง่ายๆ ว่า “แรมพังคามือ” มาแล้ว และอีกอย่างคือมาสายคอมประกอบสำเร็จ+โน้ตบุ๊คมากขึ้น

พอมาคิดดู เราพลาดที่จะแนะนำและย้ำเตือนเหล่าแฟนๆ เพจ ให้คำนึงถึงอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นลำดับต้นๆ เวลาประกอบคอมสักเครื่องหนึ่งครับ

Power Supply

ในเคสคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง มันจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์มหาศาลเลย อย่างน้อยๆ ที่สุดเท่าที่ทำงานได้เป็นคอมนะ คือ Mainboard แผงวงจรหลักที่ไว้เสียบทุกสิ่ง, RAM, CPU, Storage อย่างน้อย 1 ชิ้น และ Power Supply Unit (PSU) หรือตัวจ่ายไฟ

บางคนอุปกรณ์เยอะๆ ทำงานไฮโซๆ ก็อาจจะมีการ์ดจอเพิ่มมา +1 +2 ไปจนถึง Storage ที่อาจจะแรงเร็วเช่น SSD หรือ HDD Bay ไปจนถึงพวกไฟ RGB ของขาดไม่ได้สำหรับยุคนี้ ชุดน้ำ DVD (ถ้ามีช่อง ถถ) ไปจนถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ทั้งหมดนั่นน่ะ ฝากความหวังของหมู่บ้านไว้ที่ Power Supply ตัวเดียว

เอาจริงๆ ถ้าถามแอดแมว Power Supply ดีๆ 750W 80+ Gold อาจเป็นคำตอบที่ค่อนข้าง Universal สำหรับเครื่องทั่วไป 1 การ์ดจอในงบคอมไม่เกิน 50,000 ที่โอกาสจะเทการ์ดจอแรงจัดๆ ยาก ประมาณนั้นครับ

สมัยก่อน Crypto จะระเบิดระเบ้อจนพวก 1200W ราคาทะลุฟ้า มันเคยจับได้ในงบครึ่งหมื่นมาก่อน และหลายคนเข้าใจตรงนี้พลาดกันเยอะ มันไม่ใช่ว่าเราใช้ Power Supply 1200W มันต้องจ่าย 1200W ตลอดเวลานะ มันขึ้นอยู่กับโหลด 😃 แต่จะคำนวณยังไง? มาดูเรื่อง 80+ กันครับ

หลายคนอาจจะคุ้นชินกับโลโก้ 80+ บน Power Supply แล้วมันคืออะไร?

มันก็คือสัญลักษณ์แสดงสมรรถนะ-ประสิทธิภาพ ของ Power Supply ที่พูดถึง Power Conversion Efficiency หรือประสิทธิภาพการแปลงไฟจากที่เข้าเครื่อง 220V เป็น 12/5/3.3 ตามแต่พอร์ต/สาย ว่าเกิดการสูญเสียในระบบมากน้อย

ในระบบ 80+ แรกๆ นั่นหมายถึงว่าการใช้งานโดยส่วนใหญ่ จะมี Conversion Efficiency ไม่ต่ำกว่า 80% หรือเอาง่ายๆ สูญเสียเป็นความร้อนไม่เกิน 20% ในแทบทุกสภาวะการใช้งานที่ไม่เกินโหลด ถือเป็นตราสัญลักษณ์ของ Power Supply ที่ “ดีกว่าปกติ”

แต่ไม่ได้แปลว่า Power Supply 80+ เท่านั้น ถึงจะพอตามความต้องการของไส้ในเครื่อง เพราะบางครั้งมันอาจเกิดการดึงโหลด (Power Draw) ที่ไม่คาดฝัน เช่น การ์ดจอใช้ประมวลผลเรนเดอร์หนักๆ จ่ายไฟผ่านราง 12V ปาเข้าไป 300 วัตต์ ต่อเนื่องยาวๆ เท่ากับเฉพาะรางนี้ พี่จะต้องกินกระแสสายเดียว 12V*25A (หากไม่มีการสูญเสียต้นทาง) อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าระบบรองรับแค่ สมมติ 24A มันอาจจะยอมรับ Peak ได้แค่ช่วงสั้นๆ แต่ลากยาวมีพัง

ทั้งที่เอาจริงๆ Current Rate หรืออัตรากินกระแส ดูเผินๆ จากผู้ผลิตแล้ว อาจจะเขียน Recommendation มากลางๆ และเราควรศึกษารวมทั้ง “ซื้อเผื่อ” ให้ครบ

สมมติการ์ดจอ nVidia RTX3070 แนะนำที่ 650W Power Supply เป็นพื้นฐาน ด้วย Maximum 290W Power Consumption (ประมาณ 24A MAX) แต่ไม่ได้หมายความว่าการ์ดจอรุ่นดังกล่าว ลงเครื่องไหนก็ได้ที่ใช้พาวเวอร์ 650W เพราะต้องดู Component หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในเครื่องด้วย สมมติมันมากับ CPU กินดุๆ+ชุดน้ำเปิด+ไฟ RGB สีสันครบๆ+HDD เป็นตับ มีโอกาสที่จะน็อกได้เหมือนกัน 🙂 เพราะอย่าลืมว่าการจ่ายไฟมันคือต้องเผื่อไว้

เพราะอะไร? เพราะสูตรการคำนวณให้ได้มาซึ่งค่ารวม 700W แต่ละเจ้าอาจไม่เท่ากัน มันใช้ Sum หรือผลรวมของโหลดที่จ่ายได้แต่ละช่วงแรงดันมาแสดงเป็นผลรวมทั้งนั้นฮะ ยกตัวอย่างเช่น

Power Supply 700W สองรุ่น อาจจะจ่ายไฟราง 12V คือส่วนการ์ดจอได้ไม่เท่ากัน รุ่นหนึ่งอาจจะจ่ายได้ 56A อีกรุ่นได้ 54A Max แต่ไปเฉลี่ยช่วงการจ่ายโหลด 5V/3.3V ไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนั้นก็จะเป็น Peripherals อื่นๆ และถ้าเป็นเครื่องแน่นๆ ไส้เยอะๆ อาจจะรวนได้เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น หากมีการ์ด PCIe เสริม มีชุดน้ำ หรือมี RAM หลายแถวจัดๆ บน Server/Workstation ก็ถือเป็นโหลดที่ Power Supply ต้องรับภาระเช่นกัน ส่วนมากจึงคิดเผื่อไว้ก่อนปลอดภัยกว่าฮะ

ถามว่า Power Supply สมมติ 700W จ่ายไฟ 700W คือเต็มทุกโหลดรวมกันได้ต่อเนื่องหรือไม่?

คำตอบ คือ “ได้” แต่! เราไม่สามารถทราบได้เลยว่ายี่ห้อไหน เผื่อ Error Factor หรือค่อนข้าง Overengineered สินค้าไว้ดี รองรับ Peak Load ดึงโหดๆ ชั่วพริบตาได้ แต่ ณ จุดนั้น ความ 80+ ที่ดูมาแต่ต้น คือจบสิ้นแล้ว เมื่อมัน “ปริ่ม” เต็มกำลังในจุดใดจุดหนึ่ง มันไม่ได้มี Efficiency ที่ 80% อีกต่อไป ก็ไม่แปลก… และเกิดความร้อนในการทำงานสูงด้วย

ยกตัวอย่างสถานะ 80+ แต่ละเกรดนะครับ

  • ที่โหลด 20% 80+ เฉยๆ จะมี Efficiency ประมาณ 80% แต่ Gold จะอยู่ที่ 87% ขึ้นไป Platinum 90% และ Titanium ที่เป็นเรตติ้งสูงสุด ณ ขณะนี้ อยู่ที่ 94%

  • ที่โหลด 100% พวก Gold จะอยู่ที่ 87% ส่วน Titanium จะยังคงสมรรถนะได้ถึง 91% ซึ่งถ้ามองว่ามันต่างกันแค่ 4% ก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าคิดให้ละเอียด คิดส่วนกลับของการสูญเสียประสิทธิภาพ มันดีกว่าถึง 50% (9% กับ 13%) ซึ่งเท่ากับการจ่ายไฟต่อๆ มา ที่อาจเกิดการสูญเสียหรือดึงโหลดกันไปมาระหว่างอุปกรณ์ พวกเรตติ้งสูงๆ จะช่วยได้มากจริงๆ โดยเฉพาะการทำงานยาวนานต่อเนื่องที่กินไฟหนักๆ เข่น ขุดคริปโต, เรนเดอร์, Molecular Dynamics Simulation หรือเล่นเกมแบบรีดสมรรถนะสูงๆ

ปัจจุบันเราจึงมีตั้งแต่ 80+ White, Bronze, Silver, Gold, Platinum และ Titanium ที่แต่ละค่ายก็พัฒนายัดไส้+ทดสอบกันอย่างเข้มข้น 🙂

โดยทั้งหมดนี้ Efficiency ของตัวแพงๆ พูดง่ายๆ ว่า จะอยู่ที่ 90% ขึ้นไป ทุกช่วงโหลด (Platinum & Titanium) หรือเอาง่ายๆ ในเครื่องมีโหลดเท่าไหร่ ไฟที่ดึงจากภายนอก ก็คือประมาณ 1.1 เท่า ไม่สูญเสียมากไปกว่านั้น เช่น ไส้ในแด๊กซ์เต็มอัตราศึก 600W ก็กินไฟภายนอกมาแค่ 660W ราวๆ นี้ ทำให้เราประหยัดไฟระยะยาว จากทั้งทางตรงคือค่าไฟคอม กับการที่ห้องจะร้อนน้อยลงเพราะเกิดการสูญเสียเป็นความร้อนจนแอร์ทำงานหนัก ได้ด้วยนะฮะ 😉

black computer tower on brown wooden table

คำนวณมาแล้วก็จะงงๆ นิด แต่แอดให้หลักการเผื่อเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แบบนี้ละกันครับ

  1. ตัวกินไฟอันดับหนึ่ง ของคอมพิวเตอร์ทั่วไป คือ “การ์ดจอ” หรือไม่ก็ “CPU”
  2. ถ้าอุปกรณ์เยอะต้องเผื่อไปอีก พยายามคำนวณคร่าวๆ ให้ Power Supply ทำงานไม่เกิน 80% ของโหลดทั้งหมด ณ ช่วงที่ทำงานสูงสุด เช่น 700W ช่วงโหลด 80% คือไส้ทั้งหมดบวกลบคูณหาร (CPU+VGA Full Load, พัดลมหมุนเต็ม, SSD วิ่งจี๊ดๆ แล้วไม่เกิน 560W กำลังสวย)
  3. ในงบเท่ากัน พยายามเลือก Power Supply เงื่อนไขรับประกันไม่จุกจิก เช่น ถ้า Distributor ค่อนข้างงี่เง่าเรื่องสายที่ต้องแถมไปตอนเคลม หรือแม้กระทั่งต้องเก็บกล่อง ก็หลบๆ บ้าง ใครมันจะเก็บสาย Original ที่ไม่ใช้ไว้ได้หมด
  4. ที่สำคัญ เป็นไปได้ ลองเช็คกับเพื่อนๆ ดูครับ เพราะบางทีมัน OEM ข้ามแบรนด์กันเป็นปกติฮะ รุ่นนี้หน้าตาแบบนี้ ไส้แบบนี้ ขายแบรนด์นี้ได้เฉยทั้งๆ ที่เหมือนไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันมาเลย เป็นกิ๊กลับๆ ไรงี้
  5. สำหรับแอดนะ 80+ Gold ลงไป เหมาะกับเครื่องที่ใช้การ์ดจอแบบไม่ต้องต่อไฟ หรือออนบอร์ด เช่นพวก APU Ryzen G AMD นี่โอเค แต่ถ้าลงทุนซื้อการ์ดจอแยกแล้ว งบการ์ดจอแยกไปตั้งเยอะ บางคนการ์ดจอ Quadro ตัวโหดครึ่งแสน จะดัน Power Supply ขึ้นอย่างน้อย 80+ Platinum ที่แพงกว่าอีกสองสามพัน ไม่ใช่เรื่องไม่มีเหตุผลครับ

“ยอมลงทุนเถอะ ดีกว่าแต๊บ”

เพราะคนที่ไม่แต๊บมีมาก แต่คนที่แต๊บ แล้วมานั่งเสียใจภายหลังว่ารอดมานานแล้ว เต็มที่แล้ว ไม่น่าเลยกรู… อาจลากทีเดียวพังยกบอร์ดก็มีมากเช่นกัน อย่างน้อยถ้าเราได้พยายามเลือกที่มันดีแล้ว ก็ถือเป็นปัจจัยอุบัติเหตุไปฮะ

ส่วนของ 80+ Certification มันจะมีช่วงโหลดที่ใช้เป็นเกณฑ์ด้วย ว่า 20%/50%/100% Load ต้องมี Efficiency เท่าไหร่

ซึ่งถ้าจะเอาจริงๆ ให้ได้ Optimal มากๆ ประหยัดไฟสุด ความร้อนน้อยสุด คุณควรซื้อ 80+ Titanium ที่ใช้โหลด 50% ของ Wattage สูงสุดที่ Power Supply ตัวนั้นจ่ายได้เช่น ถ้าใช้โหลดทั้งหมด 500W ต้องซื้อ 1000W ไปเลย จะได้อัตราประหยัดไฟสูงสุด และเปล่งความร้อนออกมา (ที่เสียไปจากแทนที่จะได้กระแส) น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ของ Power Supply “ทุกตัว” ครับแต่ที่แอดแนะนำว่า 80% ก็คือ โอเค มันต่างกัน % น้อยแหละ และเอาตรงๆ เราก็คำนวณกันหยาบๆ กันที่ การ์ดจอกินไม่เกิน 40-50% กำลัง Power Supply ซึ่งมันเคยเอาอยู่ในสมัยที่ CPU มันไม่แดร๊กซ์ไฟมหาศาลแบบนี้ สมัยนี้ต้องคำนวณโหลดอีกแบบนึง

สุดท้ายก่อนจาก

จะบอกว่า Power Supply ดีๆ ถ้าจะให้สุด หา Uninturruptable Power Supply (UPS) สำรองไฟ หรืออย่างน้อยที่สุดรางปลั๊กกันกระชาก ที่เหมาะสมกับตัวเขาไว้ด้วย เพื่อยืดอายุการใช้งานและป้องกันการลากพังทั้งเซ็ตจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น ไฟตก ไฟกระชาก ฟ้าผ่า ได้อีกเยอะเลยฮะ

ด้วยความปรารถนาดี จาก แอดแมว
17 เมษายน 2565

Back to Top
Back to Top
Close Zoom