#SpecialCoverage ซื้อโน้ตบุ๊คลดราคา อย่าชะล่าใจ จะตกม้าตายรหัส CPU โดยแอดแมว

จะเห็นว่าช่วงนี้เราลงโปรโน้ตบุ๊ครัวๆ เลยครับ เหตุเพราะว่า Gen 11-12 ของ Intel และ Ryzen 5000 กำลังหนีตายรุ่นใหม่กันอยู่ แน่นอนว่า Mobile CPU ของ Intel Gen 13 (Raptor Lake) และ Ryzen 7000 …จำรหัสไม่ได้ตั้งแต่เลิกกะป้าลิซ่า… มันมีความแรงก้าวกระโดดพอสมควร โดยเฉพาะ Performance per Core ของทาง AMD นะ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะแอดย้ายมาฝั่งอินเทลครึ่งตัว ได้อ่านอะไรมาประมาณหนึ่ง เลยอยากเตือนๆ คนจะซื้อไว้ก่อนว่า

“ซื้อโน้ตบุ๊คลดราคา อย่าชะล่าใจ จะตกม้าตายรหัส CPU”

ประเด็นคือแบบนี้ รหัส CPU Intel เอง มันสร้างความสับสนให้คนเลือกซื้อได้มากจริงๆ เอาตรงๆ คือมันเปรียบเทียบระหว่างเลขรุ่นข้าม Generation ยากมาก

สมัยก่อนเราเรียนรู้กันแค่ว่า i3 < i5 < i7 แล้วก็เลิกกัน จบ ตามงบ แต่สมัยนี้เหรอ? i3 Gen 12 แรงกว่า i5 Gen 11 แน่นอนหรือไม่: ตอบโคตรยากเลย คำถามคือคุณต้องพูดกับเราชัดๆ ก่อน ว่ามันคือรหัสไหน ใช้กับเครื่องอะไรครับ 😅 เอาจาก Gen 11 ก่อนนะ สมัยก่อนรหัสประหยัดไฟ = U แต่พออินเทลอยากจะแยกรุ่น Integrated Graphic ด้วย เลยกลายเป็นที่มาของการใส่ G1 เช่น G1, G4, G7 😊 Iris Xe) บนรหัส U แต่ละรุ่น

ถามว่าเปรียบเทียบกันได้อย่างไรบ้าง?

  • i3-1115G4 = 2 Core/4 Thread โดยกราฟิกเป็น Intel UHD
  • i3-1125G4 = 4 Core/8 Thread …. (ใครอ่านแล้วรู้เรื่องบ้าง)
  • i5-1135G7 = 4 Core/8 Thread โดยกราฟิกอัพเป็น Iris Xe

อันนี้คือพื้นๆ แค่นี้ก็งงแล้ว ถามว่าใครมานั่งจดอีกไหมว่า Iris Xe มีกี่ Execution Unit (EUs) คำตอบคือแม้แต่แอดแมวก็จำไม่ได้ ว่าตัวไหน 32/64/80/96 EUs ครับแล้วสมัยนั้น i5 กับ i7 รหัส U (G7 ของ Gen 11) แอดเรียนตรงๆ นะ Application Performance ต่างกันน้อยมาก มากซะจนบางงานรันบน i5-1135G7 ต่างกับ i7-1165G7 แบบไม่มีนัยสำคัญ

นั่นคือสาเหตุที่ทำไมแอดเชียร์ตัวนั้นเป็นฐานเสมอ ในสมัยก่อน

ประเด็นคือ Intel เอง ไม่ได้มี CPU แค่รหัส U แต่ยังมีรหัส H และ HX ด้วย (ในสมัย Generation 11)

  • U = TDP 15W
  • H = TDP 35W
  • HX = อะไรที่มันมากกว่านั้น

เท่ากับเราพอจะไล่เรียงกันได้แล้วว่า CPU Intel ตัวเก่าที่วางขายอยู่ พอจะจัดกลุ่มได้ประมาณนี้นะ

11.1: ถ้าใส่ i5 ขึ้นไป รหัส H มา 100 ทั้ง 100 เป็น Iris Xe ที่ทำงานได้เร็ว มี Quicksync ตัวเทพ เขียนแบบได้ และ EUs ค่อนข้างเยอะ แต่เป็น CPU ที่ไม่ประหยัดแบตมากนัก

11.2: ถ้าใส่ G1/G4/G7 มา 100 ทั้ง 100 คือเป็น CPU กินไฟต่ำ กราฟิกในตัว 7 แรงกว่า 4 แรงกว่า 1 ที่เหลืออนุมานได้ว่า i3 = 2 Core/4 Thread และ i5/i7 เป็น 4 Core/8 Thread ที่ความเร็วคล็อกไม่สูง มักมาในรุ่นประหยัดหรืออายุแบตยืนทนนาน Ultrabook ว่าซั่น

นั่นคือคร่าวๆ จบแล้วสำหรับ Generation 11 ไม่ยากเลย มาดูนรก Gen 12 กันครับ -*-


Intel Core i Generation 12 หรือรหัสการผลิต Alder Lake มีแนวคิดคล้ายๆ big.LITTLE โดยการผนวกคอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง มีแยกร่าง Hyperthreading ได้ เข้ากับคอร์ที่คล็อกต่ำกว่าแต่มี Performance per Watt หรือประสิทธิภาพต่อการกินไฟดีกว่า ไว้ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ Multitasking

สิ่งนั้น Intel เรียกว่า P-Core (Performance) และ E-Core (Efficient) ซึ่งเมื่อ P-Core มี Hyperthreading ในขณะที่ E-core 1:1 จะทำให้จำนวน Core/Thread ของ CPU Gen 12 ขึ้นไป “ส่วนใหญ่” ไม่ใช่ 1:2 ยกตัวอย่างเช่น Intel i3-1215U น้องนุชสุดท้องของ i3 ก็ยังมี 6 Core/8 Thread โดยแบ่งเป็น 2 P-Core/4 Thread+4 E-Core หรือที่แอดเขียนเมื่อเช้าว่าเป็น 2P/4T+4E = 6C/8T นั่นเอง 😃

เหมือนจะเข้าใจง่ายขึ้น ทีนี้มาดูรหัส CPU กันต่อ

Intel ย้อนกลับไปใช้รหัส U และ H+HX อีกครั้ง แต่ที่งงกว่านั้นคือ มันดันมีรหัสตัวเลขพิเศษระหว่างเมืองสองช็อต ช็อตแรกง่ายหน่อย คือรหัส P ซึ่งกินไฟอยู่ระหว่าง U และ H และโครงสร้าง Performance Core มากกว่าเล็กน้อยนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น

  • i5-1240P = CPU TDP 28W 4P/8T+8E = 12C/16T
  • i5-1235U = CPU TDP 15W 2P/4T+8E = 10C/12T

โดยการเปรียบเทียบคร่าวๆ เอาง่ายๆ เลยนะ ก็คือ i7-1255U (10C/12T คล็อกสูง) แรงประมาณเทียบเท่ากับ i5-1240P แต่กินไฟต่ำกว่า เออ ก็ยังเห็นภาพอยู่ ว่านี่ไง Top ของ U สู้ตัวกลาง P ได้ และลดหลั่นกันลงไป

แล้วที่งงล่ะ?


มันคืออีกช็อต เอ้ย ระหว่างหลักร้อย มีคั่นเพิ่มเป็นรหัส “50” ด้วย อิหยังเดสก๊ะ?

ถ้าคนชินจาก Mobile CPU บนมือถือ เช่น SnapDragon 860 มันก็จะมีคนสับสนว่า เอ๊ะ สถาปัตยกรรมจริงๆ มันคือ 855 หรือ 865 เอามา Underclock ทำรุ่นประหยัด (คำตอบคือ 855 O/C ครับ) แต่สำหรับ Intel มันมีรุ่นพิเศษที่เราอยากให้ระวังอย่างน้อย 2 รุ่น คือ “รุ่นลบ 50” รหัส H สองตัวนี้

  • ตัวแรก: i5-12450H
  • ตัวที่สอง: i7-12650H

ทำไม? มันไม่ใช่ Intel i5-12500H กับ i7-12700H ก็นี่ไง รหัสกินไฟปกติ 35W+ ไม่ใช่เหรอ แอดแมวบ่นไรอ่ะ? ประเด็นคือแบบนี้ครับ

  • i5-12500H : 4P/8T+8E = 12C/16T
  • i5-12450H : 4P/8T+4E = 8C/12T

ส่วนต่างที่หายไป คือ 4 Efficient Core

  • i7-12700H : 6P/12T+8E = 14C/20T
  • i7-12650H : 6P/12T+4E = 10C/16T

ส่วนต่างที่หายไป คือ 4 Efficient Core เต็มๆ เช่นกัน!

หลายคนอาจบอกว่า เฮ้ย มันก็แค่ Core ที่ไม่มี Hyperthread ไง ประเด็นของแอดก็คือแบบนั้นแหละ! เมื่อคิดถึง “คอร์แท้” หรือแกนกลางประมวลผลที่สามารถแบ่งร่างได้จริงในการทำงาน มันเท่ากับ CPU “รหัส -50” พวกนี้ ทำคอร์หล่นไปกลางมหาสมุทรแปซิฟิก – หรืออาจจะอ่าวไทยกรณีผลิตเวียดนาม – มากถึง 4 Core เต็มๆ

และที่ร้ายกาจกว่านั้น ถ้าคุณค้นละเอียดลงไปถึงระดับ Cache (ที่ติดมากับ Core จะว่างั้นก็ได้) ก็ดี หรือแม้กระทั่ง Execution Units ของ Intel Iris Xe/UHD Graphics นะครับ…

  • i5-12500H : 80 EUs “Iris Xe Class”
  • i5-12450H : 48 EUs “UHD Class”

คนละเกรดดดดดดดดดดด!!!!!!!!!!

พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นสมัยก่อน มันคือ CPU “คนละคลาส” เหมือนเอา i9 มาเทียบ i7 ประมาณนั้นนะ


ทำไมแอดพูดแบบนั้น?

คุณรู้หรือเปล่าว่า CPU Gaming Desktop ที่แรงที่สุดในโลกปัจจุบัน คือ i9-13900K (ราคาไทย 25,000) เนี่ย มันต่างกับ i7-13700K (ราคาไทย 17,000) ต่างกันที่ไหน

คำตอบคือ

  • i9-13900K : 8P/16T+16E = 24C/32T
  • i7-13700K : 8P/16T+8E = 16C/24T

เห็นไหมครับ 8 Efficient Core มันทำให้ราคา CPU ต่างกัน 8,000 บาท! หรืออย่างตอนแอดแมวเลือก CPU เหมือนกันฮะ

  • i5-13600K : 6P/12T+8E = 14C/20T
  • i5-12600K : 6P/12T+4E = 10C/16T

และราคา CPU ณ วันที่แอดแมวซื้อ อย่างน้อยๆ มีต่างกัน 3 พันครับ


ดังนั้น การเลือกซื้อโน้ตบุ๊ค ที่อ่านรหัส CPU ยากเหลือเกิน เป็นไปได้ ถ้าไม่เอารหัสไปค้นเว็บ Intel อย่างน้อยๆ “ถามเพจถูกเสมอเมียเผลอบัตรพัง” แล้วคุณจะไม่โดนไอ้รหัส -50 หรือกลเล่ห์การยัดไส้ขายแบบนี้ทั้งหลายทั้งปวงให้เจ็บใจภายหลัง

ย้ำว่ามันไม่ได้มีแค่นี้ แค่นี้คือยกตัวอย่างให้ดูเบื้องต้นครับ จะได้รู้ว่าควรเอาตัวไหนไปเทียบตัวไหน หรืออย่างน้อยที่สุด “ควรระวังอะไร”

มีอะไรแลกเปลี่ยนกันได้ฮะ แอดแมวยินดี

แอด(พ่อ)แมว ต้องเปลี่ยนแว่นแล้ว ตาลาย

5 พฤศจิกายน 2565

Back to Top
Back to Top
Close Zoom