ไกด์ผู้บริโภค: จัดการค่าใช้จ่ายให้ของจำเป็น โดย แอดแมว
#สติมาเต็ม กับไกด์

#สติมาเต็ม กับไกด์ “จัดการค่าใช้จ่ายให้ของจำเป็น” โดย แอดแมว
สืบเนื่องจากกระทู้ S20 FE ตะกี๊ เลยนึกอะไรเรื่องการเทียบความคุ้มค่าเวลาเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในกระเป๋าขึ้นมาได้ แวะมาคุยกันหน่อยดีกว่า
แอดแมวเนี่ยเป็นคนที่ตรรกะซื้อของประหลาดกว่าชาวบ้าน ถามว่าชอบของถูกไหม ใช่ แต่ของถูกของแอดแมว ถูกกว่าปกติก็คือถูกนั่นแหละ ประเด็นคือพร้อมซื้อหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
การตัดสินใจว่าของชิ้นไหนคุ้ม/ไม่คุ้ม ส่วนตัวแอดแมวมองเป็น 3 อย่าง
___________________
(1) #ของจำเป็นมาก มีไว้ทำงานหารายได้ ซื้อได้โดยไม่เสียดาย ของพวกนี้แอดแมวไม่สนใจคำว่าโปรโมชั่นหรือแฟลชเซลส์ใดๆ เลยในบางกรณี และมีวิธีตัดสินใจจ่ายสำหรับสินค้า 2 กลุ่ม คือ
#กลุ่มแรก [ของใช้ที่ไม่แพงเกินรายได้ประจำต่อเดือน] ได้แก่ [มือถือ/คอมตั้งโต๊ะ/โน้ตบุ๊ค] ถ้าพังแล้วซ่อมไม่ได้/รอเคลมนาน ซื้อใหม่เลยครับ เพราะมูลค่ารายได้ที่เราสูญเสียไปจากการทำงานมันเยอะกว่าของพวกนี้มาก และ [อุปกรณ์และบริการเกี่ยวกับความปลอดภัย] เช่น กล้องหน้ารถ/กรมธรรม์โควิด/ประกันรถยนต์/ประกันชีวิต พวกนี้อาจจะไม่แพงมากถ้าเลือกให้คุ้ม แต่ก็ต้องจ่ายหรือต้องมีสถานะคุ้มครองต่อเนื่อง
เวลาซื้อ ตรรกะของแอดแมวคือ “ไม่รอ” เอาถูกสุดหรือถึงโปร รอวันถูกมันจะได้ใช้ตอนที่เราไม่อยู่ให้ใช้ อาจจะตกงานไปแล้ว หรืออาจจะเจออุบัติเหตุไปแล้วประกันขาด ของพวกนี้คือ ได้ถูกกว่าก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ดังนั้นก็คือจะซื้อทันทีเมื่อจำเป็น
หรืออีกอย่างคือ สามารถดีลอะไร รู้ล่วงหน้าก่อนถึงรอบประกันได้หรือไม่ เช่น สมมติเราจะต่อประกันรถปีถัดไป แล้วทางประกัน/โบรกเกอร์เสนอเงื่อนไขจ่ายล่วงหน้าลด 20% ก็ต้องดูก่อนว่า 20% เป็น 20% จากอะไร 20% จากเบี้ยปีก่อน หรือ 20% ที่พูดไปงั้น จากวิธีคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัย ทั้งๆ ที่แอดแมวต้องได้ลด 35% เพราะประวัติดี ก็มีทั้งเลือกจ่ายหรือไม่จ่ายตามสภาพคล่อง 🙂 ดังนั้น ของกลุ่มนี้ “เก็บเงินไว้ล่วงหน้าเผื่อเสีย” ครับ 20% ของรายได้ต่อเดือนจะปลอดภัย
#กลุ่มที่สอง [ของแพงเกินรายได้ประจำต่อเดือนไปมากๆ] ได้แก่ [รถยนต์ หรืออุปกรณ์ทำงานเฉพาะทาง เช่น เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์เขียนแบบ อุปกรณ์ช่าง]
ในส่วนของรถยนต์เนี่ย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการหารายได้หรือไม่ หรือแค่ขับไปทำงาน ความจำเป็นจะต่างกันนะ 🙂 ถ้าหารายได้ เช่น เราเอารถไปเปิดท้ายขายของ เอารถไปขนของส่งลูกค้า อันนี้ถ้าขาดไปก็ต้องหามาทดแทนด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง จะเช่า หรือจะซ่อมเท่าที่บริหารจัดการไหว หรือถ้าไม่ไหวแล้วก็ต้องคำนวณเวลาจะเปลี่ยนว่า โอเค ค่าซ่อมมันเกินครึ่งค่าผ่อนต่องวดไปเยอะหรือยัง แอดแมวเป็นคนคิดเลขละเอียดมาก ก็จะคิดเลขว่า จำเป็นมั้ย คันเดียวจบตอบครบไลฟ์สไตล์เราไหม ค่าบำรุงรักษายัง Handle ไหวหรือไม่ไหว ฯลฯ ส่วนถ้าแค่เป็นคันที่ขับไปทำงาน ขับไปจอดที่ทำงานแล้วไม่ได้ขับหารายได้ คันนั้นจะรอซ่อมก็รอไป เพราะไม่ใช่รถทำเงิน เป็นรถที่ลดเงินในกระเป๋า
ส่วนอุปกรณ์ทำงานเฉพาะทาง เช่น สมมติคุณเป็นช่างจูนกล่องรถ โน้ตบุ๊คกับตัวจูนกล่องต้องมี OBD ต้องเทพ จะเลือกแบบไก่กาแล้วไปเก็บตังค์ลูกค้าแพงๆ ใครจะเชื่อถือครับ? วิชาชีพคุณมี คุณไม่โยนไฟล์ แต่การสร้างความน่าเชื่อถือจาก “ของใช้” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ มีความจำเป็นนะ ไม่ใช่แค่ทักษะ เคยเห็นกล่อง Consult OBD ของบางยี่ห้อไหม ตัวเป็นแสนนะครับ กับค่าจูนเก็บงานหลักร้อย-หลักพันนี่ล่ะ
ทีเด็ดคือของกลุ่มที่สองนี้ มักจะมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ “มักต้องการการดูแลบำรุงรักษาตามระยะ” ภาษาแอดเรียกว่า Preventive Maintenance เพื่อให้มันคงสภาพสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อตัดสินใจแล้ว สิ่งที่ต้องลงทุนและเผื่องบประมาณไว้สำหรับมัน เช่น การเข้าศูนย์บริการ “อย่างก” ครับ เข้าไปตราบใดที่ยังอยู่ในเงื่อนไขประกัน เพราะเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายกันมากนักต่อนักละ
การเปรียบเทียบความคุ้มค่าของ Preventive Maintenance ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ ควรเทียบให้ชัด เทียบที่วัสดุสิ้นเปลืองหรืออะไหล่เกรดเท่ากัน เช่น รถยนต์ A และ B ยี่ห้อหนึ่งหมกเม็ด เขียนค่าบำรุงรักษามาถูก อันที่จริงคือหมกอะไหล่เกรดรองลงมา อีกยี่ห้อแฟร์กว่า เขียนมาตามจริง ดูจากตารางแนะนำบำรุงรักษาแล้วเหมือนจ่ายต่างกัน 50% พอเข้าใช้บริการจริงๆ ต่างกันแค่ 20% #ตกม้าตายเรื่องการตลาด แต่ได้ใจลูกค้ามากกว่า ก็มี
หรืออุปกรณ์หลายชิ้นที่ต้องใช้ทำงาน ให้ศึกษาเตรียมการเรื่องอะไหล่เอาไว้เลย เช่น เตาอบรุ่นนี้ ทำขนมขาย แล้วระยะยาวเครดิตร้านเขาเป็นยังไง แพงกว่าไม่ใช่ปัญหาถ้าทนกว่าเป็นกระบุง เพราะของมันมีปัญหาตอนจะใช้นี่ เสียโอกาสสร้างรายได้ไปเลย ดังนั้น “ถูกสุดไม่ใช่คำตอบ” ของสินค้ากลุ่มนี้ เชื่อแอดแมวเถอะ แต่จง “จ่ายแพงที่สุดเท่าที่คิดว่าสู้ไหว สำหรับของดีที่สุดในสเกลงานที่เราใช้” เพราะมันจะคุ้มระยะยาว
(เรื่องรถยนต์เราก็ตอบได้นะ แอดแมวพร้อม ซิบมาเถอะ ถ้าไม่ใช่ตระกูลพรีเมียมยุโรป ให้หาอะไหล่ให้ยังได้เลยฮะ ซิบมาๆ https://m.me/cheaplost)
จะเห็นเลยว่าของพวกนี้จะอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ถ้าต้องเผื่อความจำเป็น+คำนวณแล้วซ่อมไม่คุ้ม ต้องซื้อก็ต้องซื้อใหม่ครับ คุณค่าทางจิตใจไม่ได้ทำให้เรามีกินถ้าเรายังไม่ได้รวยระดับมีโรงรถ/คอลเลกชั่นหรูเป็นของตัวเอง จะต้อง Cut Loss ก็ต้องทำนะ
ย้ำอีกรอบว่า “ของทำงาน+ของทำเงิน” อย่าไปเสียดมเสียดาย อย่างคอมพิวเตอร์ที่ดีเพียงพอ มีประสิทธิภาพเพิ่มแม้ลงทุนกับมันอีกสักหมื่น แต่จบกว่า ใช้ได้ยาวกว่า กลายเป็นคุ้มกว่าในระยะยาว ประหยัดในส่วนที่ควรลงทุน งกไม่จ่ายในสิ่งที่ควรจ่าย อันนี้ไม่เห็นด้วย :3
___________________
(2) #ของต้องมี แต่รอนิดๆ ได้ถ้าชิ้นเก่ายังไม่พัง จะคล้ายๆ ของกลุ่มแรก แต่กลุ่มนี้สินค้าเราใช้คำว่า [คัน] อยากได้อยากมี อยากอัพเกรดตามคนอื่น ก็คือ สินค้าที่ยังไม่ถึงรอบแต่อยากเปลี่ยนแล้ว เช่น [ทีวี/ตู้เย็น/เครื่องทำน้ำอุ่น/แอร์/ไมโครเวฟ/พรินเตอร์/เราเตอร์ ฯลฯ] ถ้าของเก่าไม่พัง มีทดแทน ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตประจำวัน เช่น ตู้เย็นพังแล้วของกินจะเน่าเสียหมด หรือยังไม่ได้ซ่อมยาก/เปลืองไฟมาก แอดแมวจะไม่ค่อยอยากได้ของใหม่เท่าไหร่ เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ยังใช้ทีวี 55″ 4K รุ่นแรกๆ อยู่เลย ถามว่ารุ่นใหม่ดีกว่าไหม : ก็ดีกว่า แต่อันเก่ามันยังไม่พังนี่นา ถ้าแค่ขาดฟีเจอร์ มีวิธีจัดการแบบอื่นมั้ย ยกตัวอย่างทีวีเก่า 40″ 720p ก็ยังเอาไปต่อ Mi Box S ทำสมาร์ททีวีต่อเวลาใช้เงินไปได้อีก
บางคน สินค้าในกลุ่มนี้เราจะแยกแยะยาก อย่างมือถือ ถ้าคิดว่าเปลี่ยนมือถือทุกปีแล้วคุ้ม แอดแมวจะกระซิบบอกคุณตรงนี้ว่า “เขาลืมคำนวณที่ซื้อเครื่องแรก และสภาพที่ปล่อยต่อได้จริงๆ มาให้คุณดูฮะ” บางคนใช้มือถือทำเงินมากๆ เช่น ถ่ายภาพ อัด Vlog/TikTok เทรดหุ้น หรือซื้อขาย BTC อันนี้ควรจัดไปอยู่ในบรรดาลิสต์ [ของจำเป็นมาก] ไม่ใช่ [ของต้องมี] แต่ถ้าแค่เล่นเกมพื้นๆ แล้ว สามารถชะลอการซื้อได้หรือไม่? อดทนไม่ปรับ All-high แล้วใช้แค่เครื่องระดับ Mainstream ได้มั้ย? ให้ติดตามเทรนด์แฟลชเซลส์หรือโปรโมชั่นว่ามันจะเวียนมาช่วงไหน บางที Trade-in ถูกเวลาก็คุ้มกว่าใช้จนเป็นซากแล้วค่อยเปลี่ยน
แอดแมวย้ำว่าสินค้ากรุ๊ปนี้ทั้งหมดรอได้ และควรใช้ให้พังคามือมากกว่าที่จะเปลี่ยนเรื่อยๆ 🙂 แต่ถ้าคัน อยากเปลี่ยน แล้วไม่รู้จะเลือกตัวไหนยังไงให้คุ้มที่สุดในแต่ละช่วงเวลา ซิบมาได้ฮะ https://m.me/cheaplost ทีมแอดฯ พร้อมตอบคำถาม 😀
___________________
(3) #ของฟุ่มเฟือย ก็บรรดา Gadget ของเล่นทั้งหลายที่หากไม่มีแล้วคุณก็ไม่ได้ชีวิตแย่ลง จะหูฟัง เครื่องเล่นเกมส์ หรืออะไรก็จัดอยู่ในหมวดพวกนี้นะ รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เกินจำเป็น ทั้งที่ใช้ของเกรดดีหน่อยๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดีมากๆ อย่างแอดแมวเองถึงจะลงโปร G PRO HERO ของ Logitech เมื่อวาน แต่ในเมื่อแอดแมวแทบไม่ได้เล่นเกมเลย ก็ติดจบอยู่กับ MX Anywhere 2S พอครับ แค่นี้ก็ดีกว่าปกติมากแล้ว ตัวนึงตั้งพันหกนะ ว่าจะใช้ยาวๆ สักสามปี
ของกลุ่มนี้มักจะโดนป้ายยาว่าเป็นกลุ่ม (2) คือของมันต้องมี หรือ (1) ของจำเป็นมาก ในขณะที่จริงๆ หากคุณร้อนใจอยากซื้อมัน คิดใคร่ครวญดีๆ ก็ อ้าว ชีวิตตรูก็ไม่ได้ย่ำแย่นี่หว่า ไม่ได้ไม่มีเหมือนเขาแล้วเราจะตาย สินค้าพวกนี้แหละคือของฟุ่มเฟือย
การจะจัดของอะไรเข้ากลุ่มนี้คือ เป็นสินค้าสร้าง “ความพึงพอใจ” ล้วนๆ ไม่ใช่สินค้าสร้างความสะดวกสบาย (กลุ่ม 2) หรือสินค้าสร้างรายได้ (กลุ่ม 1) อันนี้ถ้านอกเหนือส่วนที่บริหารจัดการ Fixed Cost ในการใช้ชีวิตแต่ละเดือนแล้ว จะซื้อความสุขให้ตัวเองก็ควร แต่ก็ยั้งๆ ไว้บ้าง และเลือกที่ถูกสุดภายใต้เงื่อนไขประกันหรือบริการเดียวกันฮะ 🙂
ก็เป็นการ #แมวบ่น ตามประสา สำคัญที่สุดคือ เวลาอ่านเงื่อนไขหรือคำปฏิเสธความรับผิดชอบ (Disclaimer) แต่ละสินค้า/บริการ อยากให้อ่านให้ละเอียด เทียบกันให้ชัด เพราะต้นทุนแฝงอย่างหนึ่งที่ทำให้ของแพงขึ้นในร้าน Official ที่รับผิดชอบลูกค้า คือ “การบริการหลังการขาย” ของบางชิ้น เช่น อะไหล่คอมพิวเตอร์ ซื้อที่ไหนก็ได้ถ้าโรงงานผลิตเดียวกันจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เงื่อนไขประกัน, ของแถมจำเป็น “จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ลิสต์มาให้ดูเหมือนคุ้มๆ ไปงั้น แต่แทบไม่มีคุณค่าในการใช้งานจริง” และมูลค่ารวมที่ต้องจ่ายต่างหากคือสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
ลองจัดกรุ๊ป (1), (2) และ (3) ในใจให้ดี แล้วจะบริหารจัดการเงินในกระเป๋าไว้เผื่อของเล่นได้มากขึ้นฮะ 😀
แอดแมว@ถูกเสมอ
10 มกราคม 2564